1. ความหมายแล:ความเป็นมาของการนมัสการ
ยินดีต้อนรับเข้าสู่การเรียนรู้เรืองการนมัสการ !! เราผู้ซึ่งเป็นคริสตชนได้นมัสการพระเจ้าอยู่เสมอทุกสัปดาห์ เราต่างเห็นคุณค่าของการนมัสการพระเจ้า และสอนกันและกันให้นมัสการพระองค์อยู่เสมอ จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะศึกษาให้รู้ชัดว่าการนมัสการพระเจ้าคืออะไร? สำคัญและมีคุณค่าอย่างไร? และการนมัสการพระเจ้าอย่างถูกต้องนั้นเป็นอย่างไร? เราจะเริ่มจากการศึกษาความหมายของคำด้วยกัน
ความหมายของนมัสการ
คำว่า “นมัสการ” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายว่าหมายถึง การแสดงความอ่อนน้อมด้วยการกราบไหว้ แต่คำว่า “นมัสการ” ในพระคัมภีร์แปลมาจากคำหลายคำ ในพระคัมภีร์เดิม คำว่า “นมัสการ” มาจากภาษาฮีบรูคำว่า “ซาคาห์” (Shachah) ซึ่งแปลตรงตัวหมายถึงการ “คุกเข่า” หรือ “กราบลง” อันเป็นวิธีแสดงความเคารพนับถือทางกาย หรือทางจิตใจ หรือทั้งสองอย่าง พระคัมภีร์เดิมใช้คำนี้โดยหมายถึงการแสดงความเคารพบูชา การเชื่อฟัง และการปรนนิบัติรับใช้ทางศาสนา ตัวอย่างเช่นเมื่อคนอิสราเอลได้ยินพระเจ้าตรัสกับโมเสส พระคัมภีร์บันทึกว่าพวกเขา “ก็เชื่อ เขากราบลงนมัสการ” (อพย.4:31)
ในพระคัมภีร์ใหม่ คำว่านมัสการมาจากภาษากรีกสองคำด้วยกัน คำแรกคือคำว่า “พรอสคูเนโอ” (Proskuneo) ซึงแปลตรงตัวหมายถึงการ “จูบมือ” ของผู้อื่น หรือ “กราบลง” ต่อผู้อื่นเพื่อแสดงความเคารพ พระเยซูทรงใช้คำนี้เมื่อตรัสกับหญิงชาวสะมาเรียว่า “พระเจ้าทรงเป็นพระวิญญาณ และผู้ที่นมัสการพระองค์ต้องนมัสการด้วยจิตวิญญาณและความจริง” (ยน.4:24)
คำที่สองคือคำว่า “ลีทัวเจีย” (Leitourgia) แปลตรงตัวได้ว่า “การกระทำของประชาชน” ในพระคัมภีร์ใหม่ใช้คำนี้หมายถึงการนมัสการของคริสตจักร (กจ.13:2) และขณะเดียวกันยังใช้แปลว่าการ “ปฏิบัติพันธกิจ” ของพระเยซูคริสต์ด้วย (ฮบ.8:6)
อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า การนมัสการพระเจ้าคือ การเข้ามาอยู่ต่อพระพักตร์พระเจ้าและแสดงความยำเกรงต่อพระองค์ทั้งทางร่างกาย จิตใจและจิตวิญญาณ
การนมัสการพระเจ้ามีทั้งการนมัสการที่เป็นส่วนตัว และการนมัสการที่เป็นส่วนรวม (นมัสการร่วมกับผู้อื่น) ในหนังสือเล่มนี้จะเน้นถึงการนมัสการส่วนรวมเท่านั้น
ประวัติความเป็นมาของการนมัสการพระเจ้า
การนมัสการของโลกยุคโบราณ
มนุษย์ถูกสร้างขึ้นมาให้เป็นสิ่งมีชีวิตที่แสวงหาพระเจ้า ซึ่งถึงแม้มนุษย์จะล้มลงในความบาป ทำให้ถูกตัดขาดจากพระเจ้าตั้งแต่ครั้งปฐมกาล แต่กระนั้น มนุษย์ก็ยังพยายามแสวงหาพระเจ้าอยู่ แม้จะไม่พบพระเจ้าองค์เที่ยงแท้ แต่ก็จะนมัสการสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นพระเจ้าตามความเข้าใจของตน การนมัสการจึง
เป็นเรื่องสากลของมนุษยชาติ มนุษย์ทุกชาติทุกภาษานมัสการสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาตลอดตั้งแต่ยุคโบราณ
การนมัสการของมนุษย์ยุคโบราณมักมีลักษณะดังนี้คือ (1) เป็นการนมัสการสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติ และมีพระเจ้าหลายองค์ เช่น นับถือดวงอาทิตย์ แม่น้ำ ความอุดมสมบูรณ์ เป็นต้น (2) นมัสการโดยใช้เครื่องบูชา และมีพิธีกรรมเชิงโชคลาง ไสยศาสตร์หรือความเป็นสิริมงคล เพื่อปัดเป่าวิญญาณที่ชั่วร้าย หรือลบล้างความโกรธของพระต่างๆ (3) มีเป้าหมายเพื่อให้พระเหล่านั้นตอบสนองความต้องการของมนุษย์ เช่น เพื่อให้เกิดความอยู่ดีกินดี ความอุดมสมบูรณ์ในการเพาะปลูก (4) ไม่มีการแยกแยะระหว่างพระเจ้าในฝ่ายวิญญาณกับปรากฏการณ์ธรรมชาติ (5) การถวายเครื่องบูชามักมีการฆ่า และเผาบนแท่นด้วยไฟ ซึ่งบางทีก็เรียกว่า “บูชายัญ” (6) การนมัสการยุคโบราณบางทีก็มีความหมายเป็นนัยทางสังคมด้วย เช่น เป็นการนมัสการเพื่อติดต่อกับบรรพบุรุษของคนที่ตายไปแล้ว
การนมัสการพระเจ้าในพระคัมภีร์เดิมยุคปฐมกาลและยุคบรรพชนของอิสราเอล : แท่นบูชาส่วนตัวและครอบครัว
การนมัสการของคนที่เชื่อวางใจในพระเจ้าในสมัยพระคัมภีร์เดิมมีบางอย่างที่เหมือนคนยุคโบราณทั่วไป นั่นคือมีการเผาบูชา โดยการใช้ก้อนหินมาเรียงซ้อนกันเป็นแท่น แล้วนำสัตว์ที่ใช้เป็นอาหาร (เช่น แกะ) มาฆ่าและเผาบนแท่นนั้น แต่อย่างไรก็ตามก็ยังมีหลายอย่างแตกต่างจากของคนยุคโบราณโดยทั่วไป คือ (1) พระเจ้าของชนชาติอิสราเอลเป็นพระเจ้าองค์เดียว (อิสราเอลไม่นับถือพระเจ้าหลายองค์) (2) พระองค์เป็นบุคคลที่เคลื่อนไหว และกระทำการอยู่ในประวัติศาสตร์ของชนชาติอิสราเอล (ไม่ใช่เป็นสิ่งที่อยู่ในธรรมชาติทั่วๆไป) ในการนมัสการพระเจ้าของชนชาติอิสราเอลจึงเต็มไปด้วยการระลึกถึงเหตุการณ์ที่พระเจ้าทรงกระทำมากมาย (3) ชนชาติอิสราเอลนมัสการพระเจ้าโดยไม่มีรูปของพระเจ้า (รูปเคารพ, รูปปั้น) (4) การนมัสการพระเจ้าของชนชาติอิสราเอลมีลักษณะเป็นการติดต่อกันฝ่ายจิตวิญญาณ เห็นได้จากการที่พระเจ้าตรัสกับอาดัม (ปฐก.3:9) พระองค์ทรงยอมรับเครื่องบูชาของอาเบล และปฏิเสธของคาอินเพราะท่าทีในใจที่ไม่ถูกต้อง (ปฐก.4:2-5)
โนอาห์เป็นตัวอย่างที่เห็นชัดมากในการนมัสการของคนยุคโบราณที่เชื่อพระเจ้า เขาดำเนินชีวิตที่เชื่อฟังพระเจ้า พระองค์ใช้เขาให้ประกาศกับผู้คน พระเจ้าทรงสั่งให้เขาสร้างนาวาใหญ่ เขาก็สร้าง และในที่สุดเขาและครอบครัวก็รอดพ้นจากน้ำท่วม ท้ายที่สุดพวกเขาก็ออกจากเรือ และ “สร้างแท่นบูชาพระเจ้า และเลือกเอาสัตว์และนกประเภทไม่มลทินบางตัวมาเผาบูชาถวายที่แท่นนั้น” และพระคัมภีร์บันทึกให้เราทราบว่า “พระเจ้าทรงได้กลิ่นที่พอพระทัย” (ปฐก.8:20-21)
เหล่าบรรพชนของชนชาติอิสราเอลก็ยังคงใช้การนมัสการในรูปแบบของการสร้างแท่นบูชาเป็นของส่วนตัวและของครอบครัว เช่น อับราอัม ซึ่งเป็นผู้ที่เชื่อฟังพระเจ้า พระองค์ทรงพอพระทัยท่านอย่างมาก เมื่อครั้งที่จะถวายอิสอัคเป็นเครื่องบูชา ก็แสดงให้เห็นวิธีการนมัสการพระเจ้าว่าใช้แกะนำมาฆ่าและเผาบนแท่นบูชา เรียงฟืนอย่างเป็นระเบียบบนแท่นนั้น วางสิ่งมีชีวิตที่จะใช้เป็นเครื่องบูชาบนฟืน จับมีดขึ้นมาแทงสิ่งมีชีวิตนั้นจนตายบนแท่น และเผาด้วยไฟในที่สุด (ปฐก.22:1-า4)
อิสอัคได้เรียนรู้วิธีนมัสการจากอับราอัมผู้เป็นบิดา ก็นมัสการพระเจ้าในรูปแบบเดียวกัน พระคัมภีร์บอกว่าอิสอัคได้ “สร้างแท่นบูชา... และนมัสการออกพระนามพระเจ้า” (ปฐก.26:24-25)
ยาโคบได้รับพันธสัญญาจากพระเจ้าในความฝัน เมื่อตื่นขึ้นก็นมัสการโดยใช้วิธีเอาก้อนหินตั้งขึ้นเป็นเสาศักดิ์สิทธิ์และเทน้ำมันบนยอดเสานั้นโดยถือว่าสถานที่นั้นเป็นที่ประทับของพระเจ้า และยังได้มีการถวายหนึ่งในสิบแด่พระเจ้าอีกด้วย (ปฐก.28:18-22)
เราอาจสรุปได้ว่าการนมัสการพระเจ้าของผู้เชื่อในยุคโบราณและยุคบรรพชนมีลักษณะสำคัญดังนี้คือ (1) นมัสการพระเจ้าองค์เดียว (2) สร้างแท่นบูชา โดยการใช้ก้อนหินมาเรียงซ้อนกันเป็นแท่น และมักเลือกสถานที่พิเศษที่ตนมีประสบการณ์กับพระเจ้า เป็นสถานที่สร้างแท่นบูชา (3) ใช้สิ่งมีชีวิตที่เป็นสัตว์ และต้องเป็นสัตว์ชนิดที่ถือว่าไม่มีมลทิน (เช่น แกะ) นำมาฆ่าและเผาบนแท่นบูชา โดยเรียงฟืนอย่างเป็นระเบียบบนแท่นบูชานั้น วางสัตว์นั้นบนฟืน ใช้มีดแทงสัตว์นั้นจนตายบนแท่น และเผาด้วยไฟในที่สุด (4) ไม่ได้นมัสการโดยเน้นที่การทำพิธีกรรมเท่านั้น แต่ต้องมีท่าทีที่ยำเกรงพระเจ้า และดำเนินชีวิตที่เชื่อฟังพระเจ้าอย่างต่อเนื่องด้วย
การนมัสการพระเจ้าในยุคอพยพ : พันธสัญญาแล:เครื่องบูชา
ที่ภูเขาซีนาย ชนชาติอิสราเอลมีความสัมพันธ์กับพระเจ้าและนมัสการพระเจ้าโดยต้องมีพันธสัญญาระหว่างกัน พระเจ้าทรงเรียกร้องให้อิสราเอลนับถือพระองค์เป็นพระเจ้าองค์เดียว และไม่ให้สร้างรูปเคารพ รวมทั้งรักษาพระบัญญัติอื่นๆอีกรวมสิบประการ (อพย.20:1-18)
ในรูปแบบการนมัสการนั้นพระองค์ให้อิสราเอลสร้างพลับพลา (เต๊นท์นัดพบ) ขึ้นมาเพื่อเป็นที่นัดพบระหว่างพระองค์กับโมเสสซึ่งเป็นตัวแทนของชนชาติอิสราเอล และประชาชนชาวอิสราเอลก็จะนมัสการอยู่ด้านนอกเต๊นท์ ทรงให้สร้างหีบพันธสัญญาเพื่อใส่หินจารึกพระบัญญัติ ทรงให้โมเสสตั้งอาโรนและลูกหลานไว้เป็นตระกูลเลวีที่ทำหน้าที่ปุโรหิตเพื่อเป็นตัวแทนในการนมัสการของอิสราเอลในการถวายเครื่องบูชาแด่พระเจ้า มีการถือเทศกาลต่างๆด้วย และพลับพลานี้จะมีการย้ายไปเรื่อยๆตามการเดินทางที่พระเจ้าทรงนำจนกว่าจะถึงแผ่นดินคานาอัน
สรุปลักษณะสำคัญของการนมัสการในยุคนี้คือ
1. เปลี่ยนแปลงจากการนมัสการแบบทำเป็นส่วนตัวหรือครอบครัว มาเป็นแบบที่ประชุมของชุมชน
2. เปลี่ยนแปลงจากการนมัสการที่เป็นการถวายเครื่องบูชาด้วยตัวเอง มาเป็นการถวายเครื่องบูชาที่มีปุโรหิตเป็นผู้แทน คอยทำหน้าที่ถวายเครื่องบูชาโดยเฉพาะ ตนเองมีหน้าที่เพียงนำสัตว์มาให้ปุโรหิต แล้วคอยหมอบกราบอยู่ภายนอกเท่านั้น
3. เปลี่ยนแปลงจากการนมัสการที่แท่นบูชาของตนเองมาเป็นนมัสการรวมกับผู้อื่นที่พลับพลา ผู้ชายชาวยิวทุกคนต้องมานมัสการที่พระวิหารอย่างน้อยปีละ 3 ครั้ง ตามเทศกาลทั้งสาม คือ เทศกาลปัสกา เทศกาลเลี้ยงฉลองการเก็บเกี่ยว (เพ็นเทคอสต์) และเทศกาลอยู่เพิง (อพย.23:14-17) การถวายใดๆก็ต้องมาถวายที่พลับพลานี้
4. เปลี่ยนแปลงจากการนมัสการที่มีรูปแบบง่ายๆมาเป็นการนมัสการที่มีระเบียบแบบแผนซับซ้อนขึ้น มีการถวายเครื่องบูชาแยกเป็นประเภทต่างๆ
การนมัสการพระเจ้าในยุคผู้วินิจฉัย
ในยุคนี้ยังคงใช้รูปแบบของพลับพลาอยู่ เพียงแต่ว่าไม่ได้เคลื่อนย้ายพลับพลาไปที่ไหนอีกแล้ว เนื่องจากอิสราเอลได้เข้ามายึดครองแผ่นดินคานาอันได้อย่างสมบูรณ์แล้ว พวกเขาจึงตั้งพลับพลาไว้ที่เมืองชิโลห์ (1 ซมอ.1:3) อยู่ที่นั่นถึง 200 ปี แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีการตั้งแท่นบูชาตามที่ต่างๆกันอยู่ประปราย โดยเฉพาะที่ๆประสบชัยชนะในการรบ โดยการช่วยเหลือของพระเจ้า เช่น ที่กิลกาล (วนฉ.2:1 ) ที่เฮโบรน (2 ซมอ.5:3) ที่กิเบโอน (1 พกษ.3:4)
การนมัสการพระเจ้าในยุคพระวิหาร
เมื่อกษัตริย์ดาวิดขึ้นครองราชย์ก็มีดำริให้สร้างพระวิหารเพื่อให้เป็นอาคารนมัสการที่ถาวรและสวยงามแทนพลับพลาที่เป็นเพียงเต็นท์ แต่พระเจ้าไม่อนุญาตให้พระองค์สร้าง แต่ให้กษัตริย์ซาโลมอนผู้เป็นราชโอรสสร้างแทน เมื่อสร้างเสร็จการนมัสการก็เปลี่ยนจากนมัสการที่เต๊นท์พลับพลา มาเป็นที่พระวิหารที่ใหญ่โตหรูหราในกรุงเยรูซาเล็มแทน ส่วนรูปแบบและวิธีการก็เหมือนเดิม เพียงแต่พัฒนารูปแบบและรายละเอียดให้มีความเป็นทางการและอลังการยิ่งขึ้น เช่น การเน้นการร้องเพลง ดนตรีและการเต้นรำมากขึ้น
การนมัสการพระเจ้าในยุคที่อิสราเอลตกเป็นเชลย
เมื่อยูดาห์ (อิสราเอลฝ่ายใต้) และกรุงเยรูซาเล็มถูกบาบิโลนทำลาย พระวิหารก็ถูกทำลายด้วย และประชาชนถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลยที่บาบิโลน พวกเขาจึงไม่มีโอกาสได้นมัสการพระเจ้าอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน ไม่มีผู้เผยพระวจนะที่สั่งสอน อีกทั้งมีความกระหายที่จะรู้พระวจนะ สิ่งเหล่านี้ทำให้พวกเขาได้พัฒนาการนมัสการรูปแบบใหม่ขึ้นมา เป็นการก่อสร้างอาคารเพื่อการนมัสการพระเจ้าภายในชุมชนที่พวกเขาอยู่ เรียกว่า “ธรรมศาลา” เชื่อกันว่าธรรมศาลาน่าจะเกิดขึ้นในราวศตวรรษที่สามก่อนคริสตศักราช (ราว 300 ปีก่อนพระเยซูมาบังเกิด) โดยเริ่มในหมู่ชาวยิวที่กระจัดกระจายอยู่นอกอิสราเอลก่อน (Diaspora) ต่อมาก็แพร่หลายในหมู่ชาวยิวเป็นอย่างมาก จนกระทั่งทุกที่ที่มีชุมชนชาวยิวอยู่ก็จะมีการสร้างธรรมศาลาขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทั้งในและนอกอิสราเอล ไม่เว้นแม้แต่ในกรุงเยรูซาเล็มเองที่มีพระวิหารอยู่แล้ว ธรรมศาลากลายเป็นรูปแบบการนมัสการของศาสนายิวอย่างถาวรสืบต่อจนถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ตามศาสนายิวก็ยังมีความผูกพันกับพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็มอย่างเหนียวแน่น ธรรมศาลาทุกแห่งจึงต้องสร้างให้หันไปยังทิศที่กรุงเยรูซาเล็มตั้งอยู่ และแม้ว่าพระวิหารจะถูกทำลายลงไปแล้วกี่ครั้งก็ตาม พวกยิวก็ยังจะต้องพยายามสร้างขึ้นมาใหม่ให้ได้
ธรรมศาลา (Synagogue) มาจากคำภาษากรีกแปลว่า “สถานที่ประชุม” (ลก.7:5) รูปแบบการนมัสการของธรรมศาลาเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการนมัสการของอิสราเอลครั้งสำคัญ และยังเป็นต้นแบบของการนมัสการของคริสเตียนในยุคต่อมาอีกด้วย การนมัสการในรูปแบบของธรรมศาลา มีลักษณะสำคัญคือ (1) มีรูปแบบที่เป็นทางการน้อยกว่าการนมัสการในพระวิหาร (2) เน้นการสอนพระคัมภีร์ (พระคัมภีร์เดิมและธรรมบัญญัติของศาสนายิว) (3) ไม่มีการเน้นบทบาทของปุโรหิต ไม่มีการถวายสัตวบูชา แต่เน้นบทบาทของครูอาจารย์ผู้สอนธรรมบัญญัติ (รับบี) (4) ฆราวาสมีบทบาทมากขึ้น
องค์ประกอบของการนมัสการในธรรมศาลา มีดังนี้ คือ (1) อ่านพระคัมภีร์ และตีความหมายพระคัมภีร์ (2) ท่องหลักคำสอนของศาสนายิว ซึ่งมีชื่อเรียกว่า เชมา (Shema) (ฉธบ.6:4) (3) มีการใช้เพลงสดุดี บัญญัติสิบประการ คำอวยพร และคำว่า “อาเมน” (4) มีการอธิษฐาน (5) มีการใช้บทอธิษฐานขอการชำระ ซึ่งมีชื่อว่า “เคดูชา” (Kedushah)
การนมัสการพระเจ้าของคริสเตียนในยุคพระคัมภีร์ใหม่
คริสเตียนในยุคแรกก็นมัสการตามรูปแบบของยิวทั่วไปในเวลานั้นคือ ไปที่พระวิหารและธรรมศาลา โดยเฉพาะธรรมศาลาถือได้ว่าเป็นแม่แบบให้แก่การนมัสการของคริสเตียน แต่พวกเขาก็มีความแตกต่างจากยิวทั่วไปในเรื่องของสถานที่นมัสการ เนื่องจากพระเยซูทรงเคยสอนพวกเขาว่ามีสองสามคนประชุมกันที่ไหนในนามของพระองค์ พระองค์ก็จะทรงอยู่กับเขาที่นั่น (มธ.18:20) ด้วยเหตุนี้คริสเตียนยุคแรกจึงหลุดพ้นจากข้อจำกัดที่ว่าต้องนมัสการที่พระวิหารหรือธรรมศาลาเท่านั้น พวกเขาเริ่มใช้การนมัสการตามบ้านของกันและกัน (กจ.2:46) หรือแม้แต่ที่อื่นๆที่ตกลงกัน และเริ่มสร้างสถานที่นมัสการเป็นของตนเองเมื่อราวคริสตศตวรรษที่สาม (หลังจากพระเยซูคริสต์เสด็จขึ้นสู่สวรรค์แล้วถึงสองร้อยกว่าปี)
ลักษณะพิเศษของการนมัสการของคริสเตียนยุคแรกที่แตกต่างจากศาลนายิวในเวลานั้น คือ
1. คริสเตียนมีการนมัสการที่ไม่จำกัดหรือยึดติดกับสถานที่อีกต่อไป ไม่ผูกพันกับกรุงเยรูซาเล็ม ไม่ผูกพันกับพระวิหาร
2. คริสเตียนมีการอ่านข้อเขียนของผู้นำของพวกตน เช่น อ่านจดหมายฝากของท่านเปาโล และพระกิตติคุณที่บันทึกเรื่องราวชีวิตของพระเยซูคริสต์ ฯลฯ จนในที่สุดข้อเขียนเหล่านี้ได้รับการยึดถือยิ่งกว่าธรรมบัญญัติและหนังสือผู้พยากรณ์ที่พวกยิวอ่านกันในธรรมศาลา
3. แม้ว่าคริสเตียนจะยังร้องเพลงสรรเสริญจากบทเพลงสดุดี แต่ก็ยังมีการร้องเพลงใหม่ๆที่ประพันธ์ขึ้นโดยพวกคริสเตียนด้วยกันเอง ดังเช่นที่พบในจดหมายฝากของท่านเปาโล เป็นบทเพลงเรื่องการถ่อมพระทัยของพระคริสต์ (ฟป.2:5-11) ท่านเปาโลได้หนุนใจให้คริสเตียนในขณะนั้นร้อง “เพลงสดุดี เพลงนมัสการ และเพลงสรรเสริญ” (อฟ.5:18-19; ดูเปรียบเทียบใน คส.3:16) เพลงสดุดี แน่นอนว่าหมายถึงบทเพลงจากพระคัมภีร์เดิมส่วนใหญ่อยู่ในหนังสือสดุดี ส่วนเพลงนมัสการ อาจเป็นเพลงที่แต่งขึ้นเองเพื่อใช้ในการนมัสการ และเพลงสรรเสริญอาจเป็นบทเพลงที่เกิดขึ้นทันทีจากจิตใจที่อยากจะสรรเสริญพระเจ้า
4. มีการให้บัพติศมาและทำพิธีมหาสนิท ซึ่งศาสนายิวไม่มี
5. เน้นถึงพระเยซูคริสต์ และพระวิญญาณบริสุทธิ์ ซึ่งศาสนายิวไม่มี
6. ใช้วันอาทิตย์มาเป็นวันนมัสการแทนวันสะบาโตเดิมที่เป็นวันเสาร์ โดยถือว่าวันอาทิตย์เป็นวันขององค์พระผู้เป็นเจ้า เนื่องจากพระเยซูทรงฟื้นคืนพระชนม์ในวันนั้น จึงหันมานมัสการในวันอาทิตย์เพื่อเป็นการระลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าว (กจ.20:7; 1 คร.16:2; วว.1:10)
องค์ประกอบของการนมัสการของคริสเตียนในยุคแรก ที่เห็นได้จากพระคัมภีร์ใหม่มีดังนี้ คือ (1) การแสดงออกถึงการสรรเสริญพระเจ้าจะใช้การร้องเพลงเป็นหลัก (อฟ.5:18-21; คส.3:16; 1 คร.14-15) (2) มีการอ่านพระคัมภีร์ (คส.4:16; 1 ธส.5:17; 1 ทธ.4:13) (3) มีการอธิษฐาน (กจ.2:42) (4) ผู้เข้า
ร่วมการนมัสการมีการพูดว่า “อาเมน” เพื่อเป็นการเห็นด้วยกับผู้นำ (ดู 1 คร.14:16) (5) มีการเทศนาหรืออรรถาธิบายพระคัมภีร์ (กจ.2:40; 2 ทธ.4:1-4) (6) มีการกล่าวเตือนสติกัน (ฮบ.3:13; 10:24; 1 ธส.3:2; 2 ธส.3:12; ทต.2:15) (7) มีการถวายทรัพย์ (1 คร.16:2; 2 คร.9:6-7, 10-13) (8) มีการกล่าวถวายพระพรแด่พระเจ้า (อฟ.1:3) (9) มีการสารภาพบาป (1 ทธ.6:12; ยก.5:16) (10) มีการประกอบพิธีบัพติศมาและมหาสนิท (กจ.2:38-41; กท.3:27; 1 คร.11:20-34)
การนมัสการของคริสตจักรยุคต่อมาจนถึงปัจจุบัน
คริสตจักรยุคต่อมาจนถึงปัจจุบันล้วนยึดแนวทางของคริสตจักรยุคแรกเป็นแม่แบบ แต่ก็มีการพัฒนารูปแบบในรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกันไปในแต่ละหลักความเชื่อ และวัฒนธรรมท้องถิ่น เช่นถ้าเป็นคริสตจักรคาธอลิกก็จะเน้นเรื่องพิธีมิซซา (มหาสนิท) มากกว่าการเทศนาสั่งสอนพระคัมภีร์ ส่วนคริสตจักรโปรเตสแตนท์ก็จะเน้นการเทศนาสั่งสอนมากกว่าพิธีมหาสนิท นอกจากนี้ ในคริสตจักรโปรเตสแตนท์เองก็ยังมีรูปแบบที่แตกต่างกันมาก บางคณะก็จะเน้นระเบียบพิธีการในการนมัสการที่เคร่งครัดมาก แต่บางคณะก็ไม่เคร่งครัดในระเบียบพิธีการ นักวิชาการด้านคริสตจักรพบว่า คริสตจักรสมัย
ใหม่มีแนวโน้มที่จะจัดการนมัสการที่สร้างความน่าสนใจและดึงดูดคนทั่วไปมากขึ้นโดยใช้วิธีการหลายรูปแบบประกอบกัน ไม่ว่าจะเป็นการใช้เพลงและดนตรีที่ร่วมสมัยเข้ากับรสนิยมของผู้ร่วมนมัสการ การนำนมัสการที่คล้ายกับการแสดงคอนเลิร์ท การใช้เครื่องฉายเนื้อเพลงแทนหนังสือเพลง การตกแต่งเวทีและสถานที่ ระบบแสงสีเสียง การใช้สื่อประกอบ การแสดงประกอบการนมัสการ ฯลฯ