วันพุธที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2558

การใช้เพลงและดนตรีในการนมัสการ

3. การใช้เพลงและดนตรีในการนมัสการ
ความสำคัญของเพลงและดนตรีนมัสการ
เพลงดนตรีนั้นโดยตัวเองแล้วไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับการนมัสการ เราสามารถนมัสการพระเจ้าโดยไม่มีการร้องเพลงและดนตรีเลยก็ได้ อย่างไรก็ตาม เพลงและดนตรีเป็นศิลปะอย่างหนึ่งซึ่งพระเจ้าทรงประทานให้แก่มนุษย์ อันมีประโยชน์หลายอย่าง ได้แก่ (1) เป็นสิ่งที่ช่วยจรรโลงอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ให้มีความสุข (2) เป็นสิ่งที่ช่วยประเทืองสติปัญญา จินตนาการ (3) เป็นสิ่งที่สามารถใช้โน้มนำจิตใจ ความรู้สึกและอารมณ์ได้ เช่น เสียงเพลงเสียงดนตรีสามารถทำให้จิตใจและความรู้สึก ฮึกเหิม เข้มแข็งกล้าหาญ จึงมีการนำเสียงเพลงเสียงดนตรีไปปลุกใจในการสงคราม เชียร์กีฬา การต่อสู้ต่าง ๆ ดนตรีสามารถทำให้เกิดความรู้สึกคึกคัก มีชีวิตชีวา มีสีสัน สนุกสนาน เร้าใจ ดนตรีสามารถทำให้เกิดความรู้สึกสงบ ผ่อนคลาย เยือกเย็น สบาย ดนตรีสามารถทำให้เกิดความรู้สึกมั่นคง สง่างาม อลังการ ยิ่งใหญ่ ดนตรีสามารถทำให้เกิดความรู้สึกเศร้า เหงา วังเวง ฯลฯ
จากประโยชน์ของเพลงและดนตรีที่กล่าวมานี้ จึงทำให้มีการนำเพลงและดนตรีมาใช้ในกิจกรรมต่างๆของมนุษย์แทบทุกกิจกรรม รวมทั้งในการนมัสการพระเจ้า คนของพระเจ้าได้ใช้เพลงและดนตรีในการนมัสการมาตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน ในพระคัมภีร์เราพบว่ามีการใช้บทเพลงและดนตรีในการนมัสการอย่างมากมาย มีบันทึกถึงการร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้าเป็นครั้งแรกตั้งแต่โมเสส (อพย.15:1) ซึ่งก็น่าเชื่อว่าน่าจะมีมาก่อนหน้านี้แล้ว ดังนั้น เราจึงควรมีการศึกษาเรื่องนี้และนำไปใช้ในคริสตจักรอย่างมีประสิทธิภาพ

ประโยชน์ของเพลงและดนตรีในการนมัสการ
ประโยชน์ของเพลงและดนตรีในการนมัสการมีอยู่ 2 ประการ คือ เป็นสื่อในการนมัสการและช่วยเสริมการนมัสการ
การเป็นสื่อในการนมัสการ หมายความว่า คริสเตียนลามารถใช้เพลงและดนตรีเพื่อการนมัสการโดยตรง เช่น ใช้บทเพลงเป็นคำสรรเสริญที่เรามีต่อพระเจ้า ใช้บทเพลงเป็นคำอธิษฐานของเราต่อพระเจ้า อีกทั้งยังใช้บทเพลงย้ำเตือนหรือสอนใจเราเกี่ยวกับเรื่องของพระเจ้า เป็นต้น
ส่วนที่ว่าเพลงและดนตรีช่วยเสริมการนมัสการ หมายความว่า เพลงและดนตรีนมัสการจะช่วยเป็นสะพานเชื่อมระหว่างความคิดกับความรู้สึกที่ถูกต้องในการนมัสการ หรือช่วยโน้มนำอารมณ์ของผู้นมัสการไปสู่การมีท่าทีที่ถูกต้องต่อพระเจ้า เช่น ในขณะที่เรานมัสการพระเจ้า เราทราบอยู่แล้วว่าพระเจ้าทรงยิ่งใหญ่ แต่ท่วงทำนอง จังหวะของบทเพลง รวมทั้งเสียงดนตรีที่หนักแน่นก็จะส่งผลทำให้เรายิ่งรู้สึกมากขึ้นถึงความยิ่งใหญ่ของพระเจ้า และรู้สึกยำเกรงพระองค์มากขึ้นอีก เป็นต้น

การใช้เพลงและดนตรีในการนมัสการ
รูปแบบของเพลงและดนตรีที่สามารถใช้ในการนมัสการ ได้แก่
1. การร้องเพลงของที่ประชุม (Congregational Singing) การนมัสการที่ปรากฏในพระคัมภีร์มีการกล่าวถึงการร้องเพลงสรรเสริญของที่ประชุมอย่างมากมาย (สดด.7:17; 9:2; 47:6; 68:4; 100:2; อฟ.5:19; คส.3:16) การร้องเพลงของที่ประชุมเป็นการทำให้ผู้นมัสการทุกคนได้สรรเสริญพระเจ้าผ่านทางเสียงร้องของตนเอง ถือเป็นหัวใจของการใช้เพลงและดนตรีในการนมัสการ ในการจัดการนมัสการควรเกื้อหนุนให้ที่ประชุมได้มีส่วนร่วมในการร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้า มากกว่าที่จะเน้นให้มาฟังผู้อื่นสรรเสริญพระเจ้า
2. การร้องเพลงพิเศษโดยนักร้อง (Choral and Ensemble Music) กษัตริย์ดาวิดได้ตั้งคณะนักร้องให้ร้องเพลงในการนมัสการเป็นงานพิเศษ (1 พศด.6:33) ในที่นี้หมายถึงนักร้องที่ได้รับการฝึกฝนมาเป็นพิเศษเพื่อร้องเพลงในการนมัสการโดยเฉพาะ เช่น การร้องเพลงเป็นคณะนักร้อง หรือการร้องเพลง
เดี่ยว และคู่ เป็นต้น โดยที่ผู้นมัสการในที่ประชุมจะเป็นผู้รับฟัง
ประโยชน์ของการร้องเพลงพิเศษโดยนักร้องในการนมัสการคือ ช่วยนำใจของที่ประชุมในการนมัสการ เช่น ในช่วงต้นของการนมัสการ เสียงเพลงของคณะนักร้องจะช่วยเตรียมใจที่ประชุมให้พร้อมที่จะเข้าสู่การนมัสการ ช่วงระหว่างการนมัสการ - เสียงเพลงของคณะนักร้องจะช่วยยกชูจิตใจของที่ประชุมให้ชื่นชมยินดีมากขึ้น หรือแม้แต่ให้คณะนักร้องเป็นต้นเสียงในการร้องเพลงให้แก่ที่ประชุม หรือร้องเพลงสลับกับที่ประชุม ช่วงหลังการนมัสการ - เสียงเพลงของคณะนักร้องจะช่วยส่งจิตใจของที่ประชุมให้เดินจากไปโดยเนื้อหาของเพลงติดอยู่ในใจของพวกเขา
การร้องเพลงพิเศษควรมีคุณภาพ หากผู้ร้องมีการฝึกฝนมาอย่างดีก็จะเป็นพระพรต่อผู้นมัสการอย่างมาก หากไม่มีคุณภาพก็กลับจะกลายเป็นสิ่งที่บั่นทอนการนมัสการเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ผู้ร้องเพลงพิเศษต้องตระหนักว่า เพลงพิเศษนั้นมีไว้เพื่อช่วยนำใจของที่ประชุมในการนมัสการ มิใช่เพื่อการแสดงความสามารถ
3. ดนตรีบรรเลง (Instrumental Music) การใช้ดนตรีในการนมัสการมีอยู่ 2 รูปแบบคือ การเล่นดนตรีเพื่อประกอบการร้องเพลงของที่ประชุมและคณะนักร้องกับการบรรเลงดนตรี ในข้อนี้จะเน้นเฉพาะการบรรเลงดนตรี
จุดประสงค์ของการบรรเลงดนตรีในการนมัสการคือ เพื่อช่วยสร้างบรรยากาศให้เหมาะแก่การนมัสการให้มากยิ่งขึ้น เช่น ก่อนเริ่มการนมัสการ ก็จะมีการบรรเลงดนตรีเพื่อเตรียมใจที่ประชุมให้พร้อมสำหรับการนมัสการ ขณะที่อยู่ในบรรยากาศแห่งการอธิษฐาน ดนตรีก็สามารถบรรเลงอย่างแผ่วเบาเพื่อเกื้อหนุนต่อการอธิษฐาน หรือเมื่อจบการนมัสการก็สามารถบรรเลงดนตรีที่เหมาะสมเพื่อช่วยให้ผู้นมัสการเดินออกจากที่ประชุมด้วยความรู้สึกมั่นใจในพระเจ้า เป็นต้น ยิ่งกว่านั้นการบรรเลงเพลงนมัสการยังจะให้ที่ประชุมได้ระลึกถึงเนื้อเพลงนั้นอยู่ในใจ ซึ่งจะทำให้จิตใจได้นมัสการอยู่เงียบๆด้วย

ลักษณะของเพลงที่เหมาะแก่การนมัสการ
แม้ว่าเพลงและดนตรีเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อการนมัสการก็จริง แต่ไม่ใช่เพลงและดนตรีทุกแบบที่เหมาะแก่การนมัสการ หากใช้เพลงที่เหมาะสมก็จะทำให้การนมัสการนั้นเป็นพระพรแก่ผู้นมัสการอย่างมาก แต่ถ้าใช้เพลงที่ไม่เหมาะก็จะไม่เป็นพระพร และยังบั่นทอนการนมัสการอีกด้วย ลักษณะของเพลงที่เหมาะแก่การนมัสการ พิจารณาได้ดังนี้คือ
1. เนื้อเพลงต้องถูกต้องตามหลักพระวจนะ (เคยมีเพลงคริสเตียนบางเพลงที่มีเนื้อความทำนองว่าการตามพระเจ้านั้นไม่มีความทุกข์เลย อย่างนื้ถือว่าไม่ถูกต้องตามระวจนะ น่าจะเปลี่ยนใหม่เป็นแม้มีทุกข์ พระองค์ก็ทรงสถิตอยู่ด้วย ไม่เคยทอดทิ้ง เป็นต้น)
2. เนื้อเพลงมีลักษณะเป็นถ้อยคำที่ผู้ร้องพูดกับพระเจ้าโดยตรง ไม่ใช่พูดเกี่ยวกับพระเจ้า (พูดถึงพระเจ้าในลักษณะบุคคลที่สอง ไม่ใช่บุคคลที่สาม) เป็นเพลงที่พูดระหว่าง “ข้าพระองค์” กับ “พระองค์” หรือ “เรา” กับ “พระองค์”
3. เนื้อเพลงแสดงออกถึงการสรรเสริญ ยกย่องเคารพบูชา และขอบพระคุณพระเจ้าในพระลักษณะและพระราชกิจของพระเจ้าในแง่มุมต่างๆ
4. เนื้อเพลงแสดงออกถึงท่าทีของผู้ร้องต่อพระเจ้าอย่างเหมาะสม คือ แสดงออกถึงการเคารพบูชาให้เกียรติพระเจ้า ถ่อมตัวเองลง เป็นต้น
5. จังหวะและทำนองไม่ยาก เหมาะสมที่คนทั้งที่ประชุมจะสามารถร้องได้ เนื่องจากในการนมัสการนั้นเราต้องการให้ทุกคนในที่ประชุมได้สรรเสริญพระเจ้า ส่วนเพลงที่ยากและซับซ้อนนั้นเหมาะสำหรับการร้องเป็นเพลงพิเศษโดยคณะนักร้องที่ได้รับการฝึกฝนมาโดยเฉพาะ
6. คำร้อง ทำนอง จังหวะ และลีลาของเพลงควรถูกกับรสนิยมของที่ประชุม เพื่อที่ผู้นมัสการจะได้ร้องนมัสการด้วยความรู้สึกประทับใจ การร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้าโดยที่ไม่ชอบคำร้อง ทำนอง จังหวะ และลีลาของบทเพลงนั้นๆส่งผลทำให้ไม่สามารถร้องด้วยความชื่นชมยินดีได้
7. ภาษาของเพลงควรเป็นภาษาสุภาพและสามารถถ่ายทอดความคิด ความรู้สึกในจิตใจในการนมัสการได้อย่างชัดเจน และจะยิ่งเยี่ยมยอดหากภาษาของเพลงมีความงดงามในทางวรรณศิลป์ มีสัมผัสอย่างบทกวี

ประเภทของเพลงนมัสการ
ตามที่เราได้เรียนรู้มาแล้วว่า ในการนมัสการนั้นมีขั้นตอนหลายอย่าง และผู้นมัสการก็ต้องมีท่าทีต่อพระเจ้าหลายอย่างเช่นกัน ฉะนั้น เพลงนมัสการจะต้องมีหลายประเภทเพื่อจะสามารถช่วยผู้นมัสการให้สามารถสำแดงท่าทีในจิตใจต่อพระเจ้าได้อย่างครบถ้วน เพลงนมัสการสามารถแบ่งได้เป็น 4 ประเภทดังนี้
1. เพลงนมัสการแห่งการสรรเสริญยกย่องและขอบพระคุณพระเจ้า
เป็นเพลงที่มีเนื้อหาว่า เราสรรเสริญพระเจ้า เรายกย่องบูชาพระเจ้าในพระลักษณะและพระราชกิจด้านต่างๆของพระองค์ เช่น พระเจ้ายิ่งใหญ่ ข้าขอถวายเกียรติแด่พระเจ้า พระองค์ทรงบริสุทธิ์ ฯลฯ
2. เพลงนมัสการแห่งการอธิษฐานทูลขอ 
เป็นเพลงที่มีเนื้อหาว่า เราขอเข้าใกล้พระเจ้า เข้าสนิทกับพระองค์ ขอสารภาพบาป ขอทรงยกโทษบาป ขอไว้วางใจพระองค์ ขอพึ่งพาพระองค์ ขอพระกำลังและการเล้าโลมจากพระองค์ ขออธิษฐานต่อพระองค์ ขอฟังเสียงพระองค์ ขอการช่วยเหลือจากพระองค์ ขอการทรงนำ ฯลฯ เช่น ขอพระเยซูโปรดนำหน้า ได้ยินเสียงของพระเจ้า เป็นต้น
3. เพลงนมัสการแห่งหลักความเชื่อและคำสอน 
เป็นเพลงที่มีเนื้อหากล่าวถึงหลักความเชื่อต่างๆที่เราเชื่อถืออยู่ตามหลักแห่งพระวจนะ หรือ
เป็นเพลงที่บอกถึงคำสั่งที่สอนพระเจ้าให้เราปฏิบัติ เช่น ผู้เป็นพระเยซูทรงเป็นขึ้นแล้ว จงออกไปประกาศ จงบริสุทธิ์ จงมีความเชื่อ จงอธิษฐาน ฯลฯ
4. เพลงนมัสการแห่งการถวายตัวแด่พระเจ้า และการตอบสนองต่อคำสั่งของพระเจ้า เป็นเพลงที่มีเนื้อหาว่าเราขอตอบสนองต่อพระเจ้า ขอเชื่อฟังพระเจ้าในสิ่งต่างๆ ที่พระองค์สั่ง 
ขอถวายแด่พระเจ้า ขอรับใช้พระเจ้า เช่น ข้าขอติดตามพระเยซูดีกว่า ขอถวายแด่องค์พระเยซู เชื่อและฟังคำ ข้ายอมทุกสิ่ง ฯลฯ
นอกจากนี้ ยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเพลงนมัสการอยู่บางประการ มีบางคนเข้าใจผิดว่า เพลงชีวิตคริสเตียนเท่านั้นที่ถือว่าเป็นเพลงนมัสการที่แท้จริง เพลงสั้นที่นิยมร้องนมัสการกันในปัจจุบันเหมาะลำหรับร้องเล่นก่อนการนมัสการเท่านั้น ยังไม่ใช่เพลงนมัสการที่แท้จริง แต่ในทางกลับกัน ก็มีความเข้าใจผิดอีกว่า การนมัสการในปัจจุบันที่นิยมใช้เพลงสั้นร้องต่อกันเป็นชุด ที่เรียกว่าเมดเล่ย์ (Medley) เท่านั้นจึงจะถือเป็นการนมัสการพระเจ้าด้วยจิตวิญญาณและความจริง ถ้าร้องเพลงทีละเพลงหรือร้องเพลงยาวจะไม่เป็นการนมัสการที่แท้จริง
ยิ่งกว่านั้น ยังมีความเข้าใจไปอีกว่า ต้องเป็นเพลงแนวสากลเท่านั้น ถ้าร้องเพลงแนวลูกทุ่งแล้วจะไม่เป็นการนมัสการที่แท้จริง ความเข้าใจดังกล่าวนี้ไม่ถูกต้องตามหลักแห่งพระวจนะ

การนมัสการด้วยศิลปะอื่น ๆ
พระเจ้าทรงสร้างศิลปะหลายแขนง ฉะนั้น การนมัสการจึงไม่จำเป็นต้องใช้ศิลปะในด้านเพลงและดนตรีเท่านั้น แต่ยังใช้ศิลปะอื่นๆ ประกอบได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นศิลปะสาขาการแสดง การเต้นรำ การใช้ท่าทางประกอบ ศิลปะด้านวรรณกรรม บทกวี ศิลปะด้านจิตรกรรมและปฏิมากรรม การสร้างสัญลักษณ์

ศิลปะด้านภาพยนตร์ ศิลปะด้านการแต่งกาย ฯลฯ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น