2. นมัสการทำไมและนมัสการอย่างไร
จากบทแรกเราทราบแล้วว่า การนมัสการพระเจ้า คือ การเข้ามาอยู่ต่อพระพักตร์พระเจ้าและแสดงความยำเกรงต่อพระองค์ทั้งทางร่างกาย จิตใจและจิตวิญญาณ แต่ทำไมเราจึงต้องนมัสการพระเจ้า การนมัสการพระเจ้าสำคัญอย่างไร?
ทำไมเราจึงต้องนมัสการพร:เจ้า ?
มีสองเหตุผลหลักที่ทำให้เราจำเป็นต้องนมัสการพระเจ้า ข้อแรกคือ พระเจ้าทรงเรียกผู้เชื่อให้มีการชุมนุมกันเพื่อนมัสการพระองค์ และข้อสอง พระเจ้ามีพระประสงค์ให้ผู้เชื่อถวายเกียรติแด่พระองค์ และการนมัสการก็เป็นวิธีการที่ชัดเจนที่สุดที่ผู้เชื่อจะได้ถวายเกียรติพระองค์
1. พระเจ้าทรงเรียกผู้เชื่อให้มีการชุมนุมกันเพื่อนมัสการพระองค์
เห็นได้จากการที่พระองค์ทรงให้ฟาโรห์ปล่อยชนชาติอิสราเอลให้ออกจากอียิปต์เพื่อไปนมัสการพระองค์ (อพย.7:16) ในถิ่นทุรกันดารทรงให้อิสราเอลรวมตัวกันนมัสการพระองค์ที่ภูเขาซีนาย ต่อมาเมื่ออิสราเอลได้เข้าในคานาอันแล้ว การจะรวมคนทั้งชาติให้นมัสการร่วมกันตลอดเวลากลายเป็นสิ่งที่ทำได้ยากขึ้น พระองค์ก็ยังทรงให้คนอิสราเอลรวมตัวกันนมัสการที่พลับพลาหรือพระวิหารตามเทศกาลปีละสามครั้ง
พระองค์ไม่ได้ให้เฉพาะคนอิสราเอลนมัสการพระองค์เท่านั้น แต่พระประสงค์สูงสุดคือ ให้คนทุกชาติรวมตัวกันนมัสการพระองค์ด้วย (อสย.2:2-4; 25:6-8; 49:22; 66:18-21; ฮบ.12:18-29) และสิ่งนี้สำเร็จได้ในคริสตจักรท้องถิ่นที่กระจัดกระจายกันอยู่ทั่วโลกนั่นเอง
ยิ่งกว่านั้น คริสเตียนยุคแรกเห็นความสำคัญและเป็นแบบอย่างในการนมัสการร่วมกัน ไมใช่มีแต่การนมัสการส่วนตัวหรือภายในครอบครัวอย่างเดียว เช่น ผู้เชื่อยุคแรกมีการนมัสการร่วมกันเสมอๆ (กจ.2:41-47) เปาโลบอกผู้เชื่อในเมืองเอเฟซัสว่า “จงปราศรัยกันด้วยเพลงสดุดี เพลงนมัสการ และเพลงสรรเสริญ” (อฟ.5:19) แสดงให้เห็นภาพว่าให้ผู้เชื่อมีการร่วมกันนมัสการ และผู้เขียนพระธรรมฮีบรูหนุนใจว่า “อย่าขาดการประชุมเหมือนอย่างบางคนที่ขาดอยู่นั้น...” (ฮบ.10:25)
2. พระเจ้ามีพระประสงค์ให้ผู้เชื่อถวายเกียรติแด่พระองค์ และการนมัสการก็เป็นวิธีการที่ชัดเจนที่สุด ที่ผู้เชื่อจะได้ถวายเกียรติพระองค์
พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์เพื่อ “พระสิริ” ของพระองค์ (อสย.43:6-7) ผู้ที่เชื่อวางใจในพระเยซูได้รับกำหนดและรับการแต่งตั้งให้เป็นที่ถวายสรรเสริญแด่พระสิริของพระองค์ (อฟ.1:12) พระเจ้าทรงเป็นผู้ทรงสมควรที่จะได้รับการถวายเกียรติ พระองค์ทรงรักษาพระเกียรติของพระองค์ (อพย.20:5; อสย.48:11) และพระองค์ก็ทรงต้องการการถวายเกียรติจากสิ่งที่พระองค์ทรงสร้างด้วย (วว.4:11) ในการ
นมัสการเป็นช่องทางที่ชัดเจนและตรงที่สุดที่ผู้เชื่อจะได้แสดงการสรรเสริญพระเจ้า และถวายเกียรติแด่พระเจ้า ไม่เพียงแต่เป็นที่รับรู้กันภายในหมู่ผู้เชื่อเท่านั้น แต่เป็นช่องทางที่ประจักษ์แก่คนที่ยังไม่รู้จักพระเจ้าได้อย่างชัดเจนที่สุดอีกด้วย (กจ.2:46-47)
การนมัสการที่ถูกต้องคืออย่างไร ?
พระเยซูตรัสกับหญิงชาวสะมาเรียว่า “...ผู้ที่นมัสการอย่างถูกต้องจะนมัสการด้วยจิตวิญญาณและความจริง” (ยน.4:23) วลีที่ว่า “ผู้ที่นมัสการอย่างถูกต้อง” บ่งชี้เป็นนัยว่ามีผู้ที่นมัสการที่ไม่ถูกต้องด้วย ในข้อ 22 พระองค์ตรัสว่า “ซึ่งเจ้านมัสการนั้นเจ้าไม่รู้จัก ซึ่งพวกเรานมัสการเรารู้จัก” ก็บ่งชี้เป็นนัย
ว่ามีบางคนนมัสการพระเจ้าอย่างไม่เข้าใจ ไม่ถูกตอง และบางคนก็นมัสการอย่างเข้าใจ นมัสการอย่างถูกต้อง วิธีนมัสการที่ถูกต้องที่ปรากฏในพระคัมภีร์คือ
1. ผู้นมัสการต้องนมัสการด้วยจิตวิญญาณและความจริง พระเยซูตรัสว่า ผู้ที่จะนมัสการพระเจ้าต้องนมัสการด้วยจิตวิญญาณและความจริง พระองค์ทรงยํ้าว่าพระบิดาทรงแสวงหาคนเช่นนี้นมัสการพระองค์ (ยน.4:23-24; ลก.1:46-47) การนมัสการด้วยจิตวิญญาณ หมายความว่าในการนมัสการต้องมีความสัมพันธ์ตรงระหว่างจิตวิญญาณของผู้นมัสการกับพระวิญญาณของพระเจ้า
ฉะนั้นการนมัสการจึงไม่ควรมีท่าทีและบรรยากาศแบบที่เรียกว่า “นมัสการเรื่องพระเจ้า” (พระเจ้าเป็นบุคคลที่สาม คือเป็นผู้ที่ถูกกล่าวถึง) แต่ควรเป็นการ “นมัสการต่อพระเจ้า” (พระเจ้าเป็นบุคคลที่สอง คือเป็นผู้ที่เราพูดด้วยโดยตรง) เช่น เวลาร้องเพลงควรเป็นการร้องเพลงต่อพระเจ้า เลือกเนื้อเพลงที่เป็นการร้องต่อพระเจ้าโดยตรง ไม่ใช่ร้องเพลงเกี่ยวกับพระเจ้า เปาโลบอกว่าให้เรา “ร้องเพลงสรรเสริญและสดุดีจากใจของท่าน ถวายองค์พระผู้เป็นเจ้า” (อฟ.5:19)
อีกประการหนึ่งที่สำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้คือ ในการนมัสการ เราต้องพยายามให้ผู้เชื่อแต่ละคนได้มีการนมัสการพระเจ้าเป็นส่วนตัว ให้จิตวิญญาณของแต่ละคนนมัสการพระเจ้าโดยตรง ไม่ใช่มาชมการนมัสการของผู้นำนมัสการ เช่น ในการร้องเพลงนมัสการ ควรเน้นเพลงที่ผู้นมัสการทุกคนร้องได้ และให้ทุกคนร่วมร้อง มากกว่าจะเน้นที่เพลงพิเศษของคณะนักร้อง
การนมัสการด้วยจิตวิญญาณยังหมายความอีกว่า ในการนมัสการจะเน้นท่าทีภายในจิตวิญญาณของผู้นมัสการมากกว่าจะเน้นที่สถานที่นมัสการ หรือรูปแบบการนมัสการ หรืออากัปกิริยาในการนมัสการ
ส่วนการนมัสการด้วยความจริง หมายความว่า เราต้องนมัสการพระเจ้าโดยมุ่งตรงไปที่องค์พระเยซูคริสต์ พระเยซูคริสต์ตรัสว่า “เราเป็นทางนั้น เป็นความจริง และเป็นชีวิต ไม่มีผู้ใดมาถึงพระบิดาได้นอกจากจะมาทางเรา ถ้าท่านทั้งหลายรู้จักเราแล้ว ท่านก็จะรู้จักพระบิดาของเราด้วย” (ยน.14:6-7) จากข้อนี้พระเยซูกำลังตรัสว่าพระองค์คือ “ความจริง” ฉะนั้นที่บอกว่าต้องนมัสการด้วยความจริงจึงหมายถึงต้องนมัสการพระเยซู ถ้าไม่นมัสการพระเยซูคริสต์ก็จะไม่ถือว่านมัสการพระเจ้าอย่างถูกต้อง จะนมัสการไม่ถึงพระบิดา ดังนั้นผู้ที่จะนมัสการด้วยความจริงได้จึงต้องเชื่อวางใจในพระเยซูคริสต์ รวมทั้งเข้าใจและเห็นคุณค่าของการไถ่บาปของพระองค์
การนมัสการพระเจ้าด้วยความจริงยังหมายความอีกว่า เราต้องนมัสการพระเจ้าด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องตามหลักพระวจนะ เช่น นมัสการพระเจ้าผู้เที่ยงแท้องค์เดียว ไม่นมัสการพระอื่นอีก หรือนมัสการพระเจ้าโดยไม่ใช้รูปเคารพ เป็นต้น
2. ผู้นมัสการต้องตระหนักถึงพระลักษณะและพระราชกิจของพระเจ้า เมื่อรับรู้และตระหนักถึงพระลักษณะและพระราชกิจของพระองค์แล้ว เราจึงจะตอบสนองต่อพระองค์อย่างถูกต้องได้ (อสย.6:3; มธ.14:33) ผู้นมัสการไม่ควรสรรเสริญพระเจ้าอย่างไม่เข้าใจ เมื่อจะร้อง “ฮาเลลูยา” (แปลว่าสรรเสริญพระเจ้า) ควรรู้ด้วยว่าเราสรรเสริญพระองค์เพราะอะไร
3. ผู้นมัสการต้องอยู่ในท่าทีและบรรยากาศที่มีความเคารพและยำเกรงพระเจ้า (ฮบ.12:28-29) พระเจ้าทรงเป็นองค์ผู้สูงสุด การกระทำใดๆต่อพระองค์ต้องกระทำด้วยความเคารพยำเกรงให้สมพระเกียรติของพระองค์ ต้องตระหนักว่าคำว่า “นมัสการ” หมายถึงการ “กราบลง” ในภาษาเดิม
4. ผู้นมัสการต้องมีชีวิตที่บริสุทธิ์ (ฮบ.12:14; มธ.5:8; 1 ยน.3:21; ยก.4:8) ถ้าชีวิตหรือแม้แต่ในจิตใจไม่บริสุทธิ์แล้ว จะไม่สามารถเป็นที่ยอมรับของพระเจ้าได้ ฉะนั้นการสารภาพบาปจึงเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับผู้นมัสการพระเจ้า
5. ผู้นมัสการต้องอยู่ในท่าทีและบรรยากาศแห่งการอธิษฐาน (มธ.21:12-13; มธ.6:6) ในการนมัสการ ผู้นมัสการควรจดจ่ออยู่ที่พระเจ้าทุกขั้นตอน ไม่ควรให้อะไรมาดึงความสนใจหรือสมาธิของเราไปจากพระเจ้าเลย
6. ผู้นมัสการต้องอยู่ในท่าทีและบรรยากาศที่มีระเบียบ ไม่วุ่นวาย (1 คร.14:33; เปรียบเทียบกับข้อ 40) เพื่อให้การนมัสการเป็นประโยชน์ต่อผู้เชื่อทุกคน รวมทั้งเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่ยังไม่เชื่อที่อยู่ในการนมัสการด้วย ไม่ควรให้การนมัสการถูกมองว่ามีอาการ “คลั่ง” เกิดขึ้น (1 คร.14:23)
7. ผู้นมัสการต้องมีการพิจารณาตนเอง (1 คร.14:24-25; 11:28-32) เมื่อได้พบพระเจ้า เราต้องมีการตระหนักถึงความไม่เหมาะสม ไม่คู่ควร และไม่ถูกต้องของตนเอง รวมทั้งพร้อมที่จะสารภาพ และยอมให้พระองค์ทำกิจในชีวิตเรา ต้องพิจารณาว่าในขณะที่กระทำสิ่งต่างๆในการนมัสการนั้น เราเห็นพ้องกับสิ่งนั้นอย่างแท้จริงหรือไม่ เช่น เมื่อถวายทรัพย์ เรามีท่าทีว่าเราถวายตัวแก่พระเจ้าหรือไม่ เมื่อเราร้องเพลงสรรเสริญ เราสรรเสริญพระเจ้าจริงหรือไม่
8. ผู้นมัสการต้องให้พระวิญญาณบริสุทธิ์ทำกิจของพระองค์ในการนมัสการ พระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นผู้ที่เสริมกำลังในการนมัสการของผู้เชื่อ ทั้งในการอธิษฐาน (รม.8:26-27) การร้องเพลงสรรเสริญ (อฟ.5:18-20) การเทศนาสั่งสอนพระวจนะและการฟังพระวจนะ (1 คร.14:37; กจ.4:31) ยิ่งกว่านั้น ผู้นมัสการควรมีโอกาสได้ใช้ของประทานของพระวิญญาณบริสุทธิ์เพื่อเสริมสร้างซึ่งกันและกัน
เช่น พระคัมภีร์กล่าวถึงการเผยพระวจนะ การพูดภาษาแปลกๆ ที่ต้องมีการแปล เป็นต้น การนมัสการที่ผู้เชื่อได้ใช้ของประทานของพระวิญญาณบริสุทธิ์จะส่งผลทำให้คริสตจักรจำเริญขึ้น (1 คร.14:12)
9. ผู้นมัสการต้องนมัสการด้วยความชื่นชมยินดี พระเจ้าทรงมีพระประสงค์ให้ผู้เชื่อชื่นชมยินดีในพระองค์ทุกเวลา (ฟป.4:4) พระเยซูตรัสว่าให้ผู้ที่ได้รับการอภัยบาปจงชื่นใจเถิด (มธ.9:2) คริสเตียนยุคแรกร่วมใจกันนมัสการด้วยความ “ชื่นชมยินดี” (กจ.2:46) มีข้อพระคัมภีร์จำนวนมากที่ได้เชิญชวนให้คนของพระเจ้าสรรเสริญพระองค์ด้วยความชื่นชมยินดี สรรเสริญด้วยความชื่นบาน สรรเสริญ
ด้วยใจยินดี (สดด.63:5; 66:1; 89:2,4,6; 100:1; 32:1) บรรยากาศของการนมัสการควรโน้มนำให้ผู้นมัสการมีความชื่นชมยินดีในพระเจ้า และถึงแม้ว่าบางขณะจะมีความโศกเศร้าเนื่องด้วยการสำนึกบาป แต่ในที่สุดก็จะนำไปสู่ความชื่นชมยินดีในการได้รับการอภัย
10. ผู้ที่นมัสการต้องมีความรักซึ่งกันและกัน พระคัมภีร์ได้กล่าวถึงการร่วมประชุมรับประทานขนมปังและนำองุ่นในพิธีมหาสนิทว่า “จงคอยซึ่งกันและกัน” (1 คร.11:33) และยังกล่าวถึง “การประชุมเลี้ยงผูกรัก” ของบรรดาผู้เชื่อ (ยด.12) สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงบรรยากาศในการนมัสการว่าผู้นมัสการต้องมีความรักซึ่งกันและกัน ห่วงใยซึ่งกันและกัน พะวงซึ่งกันและกัน
การนมัสการที่ไม่ถูกต้องที่ปรากฏในพระคัมภีร์
พระคัมภีร์กล่าวถึงการนมัสการพระเจ้าที่พระองค์ทรงถือว่าไม่ถูกต้อง และทรงไม่ยอมรับอยู่หลายครั้ง ซึ่งนำมาประมวลได้ดังนี้
• การนมัสการด้วยปากเท่านั้น มิใช่มาจากความคิดและจิตใจ (อสย.29:13-14; มธ.15:8; มก.7:6 ปากใกล้ใจห่าง)
• การนมัสการซึ่งเป็นพิธีรีตองเท่านั้น มิใช่อย่างจริงใจ (อสย.1:11-14; ยอล.2:13)
• การนมัสการด้วยความประสงค์ที่ไม่บริสุทธิ์ (สภษ. 21:27 (เช่นใน มธ.6:1); ยรม.7:9-11; อสค.33:30-31)
• การนมัสการด้วยใจและชีวิตที่ไม่ยอมทิ้งความบาปชั่ว (สดด.66:18; สภษ.21:27; อสย.1:13,15; 59:1-2; พคค.3:40-44)
• การนมัสการด้วยใจและชีวิตที่ไม่ยอมเชื่อฟังพระเจ้า (สภษ.1:24-30; อสย.66:3-4; ยรม.6:10,19-20; อสค.33:30,31; อมส.5:21-24; ยรม.7:13; มคา.6:6-8; อสค.12:2)
• การนมัสการโดยพี่น้องคริสเตียนยังมีเรื่องขัดใจกันอยู่ (มธ.5:23-24)
• การนมัสการโดยยังไม่ยอมให้อภัยคนอื่น (มธ.6:14-15)
• การนมัสการพระเจ้าโดยยังนับถือพระอื่น ๆ (อพย.20:3; อสค.16:1-59)
• การนมัสการพระเจ้าโดยใช้รูปเคารพ (อพย.20:4; อสค.14:3)
ท่าทางในการนมัสการ
การนมัสการไม่สำคัญที่ท่าทางภายนอก พระคัมภีร์บันทึกท่าทางในการนมัสการไว้หลายอย่าง แต่ไม่มีการกำหนดหรือจำกัดว่าจะต้องใช้ท่าไหนโดยเฉพาะ เช่น กราบลง (วว.4:10; 14) นิ่งสงบ (ฮบก.2:20; ศฟย.1:7) คุกเข่าลง (สดด.95:6; ฟป.2:10) เต้นรำ (อพย.15:20; 2 ซมอ 6:14; สดด 149:3) ยืน
ขึ้น (นหม.8:5) ก้มศีรษะ (1 พศด.29:20) ตบมือ และโห่ร้องไชโย (สดด.47:1) ถอดรองเท้า (อพย.3:5) ชูมือขึ้น (นหม.8:6; สดด 63:4; 141:2)
เราสามารถสรุปได้ว่าการนมัสการด้วยท่าทางไหนไม่ใช่สิ่งที่พระคัมภีร์เจาะจงชัด สิ่งที่จำเป็นคือ เราต้องนมัสการด้วยความจริงใจ (1 ซมอ.16:7; 1 พศด.28:9; 29:17 ; อสย.29:13; สดด.145:18; ยรม.4:4; ยอล.2:13; ยน.4:24; 2 คร.9:7; อฟ.5:19 เป็นต้น) นอกจากนี้ คริสตจักรควรเลือกใช้ท่าทางที่เหมาะสำหรับกาลเทศะและสำหรับอัธยาศัยของคริสเตียนในท้องถิ่นนั้นๆ เพื่อให้คริสเตียนแต่ละคนได้สำแดงความรัก ความกตัญญูและความเคารพต่อพระเจ้าโดยท่าทางที่เหมาะสมสำหรับเขา และควรคำนึงถึงวัฒนธรรมท้องถิ่นด้วยว่า ท่าทางอย่างไรที่จะทำให้คนที่ยังไม่เชื่อพระเจ้าในท้องถิ่นนั้นรู้สึกได้ว่าคริสเตียนมีความเคารพยำเกรงหรือชื่นชมยินดีต่อพระเจ้าของตน
ผลของการนมัสการอย่างถูกต้อง
พระคัมภีร์ได้บอกถึงผลดีของการนมัสการพระเจ้าอย่างถูกต้องไว้หลายประการ ประมวลได้ดังนี้
• ทำให้เราชื่นชมยินดีในพระเจ้า (สดด.27:4; 16:11; 73:25; 84:1-2,4,10; กจ.24:52-53; วว.4:8)
• ทำให้พระเจ้าปีติยินดีในเรา (อสย.62:3-5; ศฟย.3:17)
• ทำให้เราเข้าใกล้พระเจ้า (ฮบ.9:1-7; 10:19; 10:22; 12:18-24; 12:28-29)
• ทำให้พระเจ้าเข้าใกล้เรา (ยก.4:8; 2 พศด.5:13-14; สดด.22:3)
• ทำให้พระเจ้าทรงกระทำกิจต่อเรา (1 คร.14:26; คส.3:16; อฟ.5:19; ฮบ.10:24-25) ในการนมัสการ พระวิญญาณของพระเจ้าจะทรงทำกิจในผู้นมัสการ ยิ่งกว่านั้น ผู้นมัสการก็จะได้รับการเสริมสร้างขึ้นผ่านทางการรับใช้ของกันและกันอีกด้วย
• ศัตรูของพระเจ้าจะหนีพ่ายไป (2 พศด.20:21-22)
• คนที่ยังไม่เชื่อพระเจ้าจะทราบว่าพระเจ้าทรงสถิตอยู่ และสามารถช่วยเขามาสู่ความเชื่อในพระคริสต์ได้ง่ายขึ้น (1 คร.14:25; กจ.2:11)
คุณค่าอันถาวรของการนมัสการ
การนมัสการพระเจ้าเป็นสิ่งที่พระเจ้าทรงถือว่ามีคุณค่าสูงสุดทั้งในปัจจุบันและจะคงคุณค่าสูงสุดอยู่ตลอดไปเป็นนิตย์ มีเหตุผล 3 ประการที่ยืนยันถึงเรื่องนี้ ประการแรก การที่ในพระคัมภีร์เต็มไปด้วยการสรรเสริญพระเจ้า มีถ้อยคำที่กล่าวว่า “สรรเสริญพระเจ้า” หรือถ้อยคำทำนองเดียวกันถึงเกือบ 200 ครั้ง
ประการที่สอง มีพระคัมภีร์มากมายที่เน้นถึงการนมัสการ และการสรรเสริญพระเจ้าว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำอยู่เสมอในชีวิต และจะทำไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่ เช่น ข้าพเจ้าจะสรรเสริญพระเจ้าตลอดไป (สดด.34:1) ...จะสรรเสริญพระองค์วันยังคํ่า (สดด.35:28) ...จะกล่าวสรรเสริญพระองค์ตลอดชั่วชาติพันธ์ (สดด.79:13) ...จะสรรเสริญพระองค์วันละเจ็ดครั้ง (สดด.119:164) คำสรรเสริญพระองค์อยู่ที่ปากข้าพเจ้าเรื่อยไป (สดด.34:1) ...จะสรรเสริญพระเจ้าตราบเท่าที่ข้าพเจ้ายังมีชีวิตอยู่... (สดด.146:2) พระคัมภีร์มีบันทึกว่าคริสเตียนยุคแรกมีการร่วมกันนมัสการทั้งที่พระวิหารและตามบ้าน “ทุกวันเรื่อยไป” (กจ.2:46)
และประการสุดท้าย พระคัมภีร์ได้บรรยายภาพของผู้ที่อยู่ในสวรรค์ว่า จะเต็มไปด้วยการนมัสการพระเจ้า (วว.4:8-11; 5:11-14) สิ่งนี้บ่งชี้ว่าการนมัสการพระเจ้าจะไม่มีการสิ้นสุดลง
ฉะนั้น สำหรับคริสเตียนแล้ว การนมัสการพระเจ้าจึงเป็นสิ่งที่มีคุณค่าสูงสุดในชีวิตอย่างไม่มีที่สิ้นสุด สำคัญทั้งในชีวิตนี้และชีวิตในสวรรค์
องค์ประกอบของการนมัสการ
องค์ประกอบของการนมัสการพระเจ้าที่จะกล่าวถึงในที่นี้จะเน้นรูปแบบพื้นฐานของคริสตจักรโปรแตสเตนท์ทั่วๆ ไปที่ยึดองค์ประกอบของคริสตจักรยุคแรกเป็นแม่แบบและมีการพัฒนาสืบเนื่องต่อมา โดยทั่วไปแล้วในการนมัสการจะมีองค์ประกอบดังนี้ (1) เพลงและดนตรีนมัสการ (2) อธิษฐาน (3) การ
อ่านพระวจนะ (4) การเทศนาสั่งสอนพระวจนะ (5) พิธีบัพติศมาและมหาสนิท (6) การถวายทรัพย์ (7) การกระทำอื่นๆในการนมัสการ เช่น การเชิญชวนให้นมัสการ การกล่าวต้อนรับ ประกาศของคริสตจักร เป็นต้น
รายการนมัสการ
ในการนำองค์ประกอบในการนมัสการมาจัดเป็นรายการนมัสการนั้น มักดำเนินตามขั้นตอนที่เห็นได้จากพระธรรมอิสยาห์ บทที่ 6 ข้อ 1 ถึง 8 เมื่ออิสยาห์ได้พบกับพระเจ้า ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้
ขั้นตอนแรก : สรรเสริญ ข้อ 1-4 เสราฟิมสรรเสริญพระเจ้าว่า “บริสุทธิ์ บริสุทธิ์ บริสุทธิ์” แล้วพระเจ้าก็เสด็จมาประทับอยู่เต็มพระวิหาร
ขั้นตอนที่สอง : สารภาพ/อธิษฐาน ข้อ 5-7 เมื่ออิสยาห์ได้พบพระเจ้าผู้บริสุทธิ์ เขาก็รู้สึกถึงความผิดบาปและไม่สมควรของตนเอง จึงสารภาพบาป แล้วพระเจ้าก็ทรงชำระบาปให้แก่เขา
ขั้นตอนที่สาม : ฟังพระวจนะ ข้อ 8 ก. เมื่ออิสยาห์ได้รับการชำระให้บริสุทธิ์แล้ว พระเจ้าก็ทรงตรัสกับเขาถึงน้ำพระทัยของพระองค์ที่มีต่อเขา
ขั้นตอนที่สี่ : ถวายตัว (ตอบสนองพระวจนะ) ข้อ 8 ข.เมื่ออิสยาห์ได้ยินพระวจนะ เขาก็ตอบสนองต่อพระวจนะนั้นด้วยการถวายตัวรับใช้พระเจ้า
ฉะนั้นในการจัดรายการนมัสการจึงมักจัดในรูปแบบข้างต้นดังตัวอย่างต่อไปนี้
นมัสการด้วยการสรรเสริญ
1. ดนตรีบรรเลงเตรียมใจให้สรรเสริญพระเจ้า
2. คำเชิญซวนให้นมัสการ (อาจอ่านพระวจนะที่มีเนื้อหาเตรียมใจให้สรรเสริญพระเจ้า)
3. ร้องเพลงนมัสการแห่งการสรรเสริญ (อาจร้องเป็นเพลงเดียวหรือชุดเพลงสั้นที่ช่วยนำใจที่
ประชุมให้สรรเสริญพระเจ้า)
นมัสการด้วยการอธิษฐาน
4. กล่าวต้อนรับ
5. อ่านพระวจนะ (ที่ประชุมอ่านพร้อมกับผู้นำหรืออ่านสลับกับผู้นำ)
6. ร้องเพลงนมัสการแห่งการอธิษฐาน
7. อธิษฐานสารภาพบาป ทูลขอ หรือขอบพระคุณพระเจ้า
นมัสการด้วยการฟังพระวจนะ
8. ร้องเพลงนมัสการแห่งหลักความเชื่อ
9. เทศนา
นมัสการด้วยการถวายตัว
10. ร้องเพลงนมัสการแห่งการถวายตัว (ตอบสนอง)
11. อธิษฐานเผื่อการถวายทรัพย์
12. ถวายทรัพย์
13. ประกาศของคริสตจักร
14. ร้องเพลงสรรเสริญและทูลขอพระพรปิดการนมัสการ
แต่ในปัจจุบัน มีแนวคิดใหม่ในเรื่องรูปแบบการนมัสการที่ไม่เน้นระเบียบ พิธีการ หรือขั้นตอนมากนัก แต่เน้นการร้องเพลงสรรเสริญ และการจดจ่ออยู่ที่พระเจ้าอย่างต่อเนื่อง มีรูปแบบพอสังเขปดังนี้
1. ดนตรีบรรเลงเตรียมใจให้สรรเสริญพระเจ้า
2. คำเชิญชวนให้นมัสการ (อาจอ่านพระวจนะที่มีเนื้อหาเตรียมใจให้สรรเสริญพระเจ้า)
3. เพลงนมัสการ - เน้นเพลงสรรเสริญ มักเริ่มด้วยเพลงเร็วเพื่อให้ที่ประชุมรู้สึกปีติยินดีในพระเจ้า แล้วจึงต่อด้วยเพลงช้า เพื่อให้ที่ประชุมมีใจสงบและอธิษฐานต่อพระเจ้า
การร้องเพลงจะร้องหลายเพลงติดต่อกันและใช้เวลาค่อนข้างนาน เพื่อให้ที่ประชุมมีจิตใจจดจ่ออยู่กับพระเจ้าอย่างต่อเนื่อง จนไม่คิดถึงสิงอื่นใด และไม่ให้สิ่งใดมาขัดจังหวะ เพื่อให้ที่ประชุมรู้สึกสัมผัสกับพระเจ้า ในระหว่างนี้ก็จะมีการอธิษฐานส่วนตัวเป็นระยะๆ
4. เทศนา
5. อธิษฐานเผื่อการถวายทรัพย์
6. ถวายทรัพย์
7. ประกาศของคริสตจักร
8. ร้องเพลงสรรเสริญและทูลขอพระพรปิดการนมัสการ
ตัวอย่างของรายการนมัสการทั้งสองแบบข้างต้นนี้ล้วนแต่มีองค์ประกอบที่จำเป็นของการนมัสการบรรจุอยู่เช่นเดียวกัน ฉะนั้นจึงเป็นรูปแบบที่ใช้ได้ทั้งคู่ อย่างไรก็ตาม ผู้จัดการนมัสการยังสามารถดัดแปลง ประยุกต์ และเพิ่มเติมรายการเหล่านี้ได้อย่างหลากหลาย เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพของที่ประชุมและวัตถุประสงค์ที่เฉพาะเจาะจงของคริสตจักร นอกจากนี้การปรับเปลี่ยนรูปแบบและ
รายการนมัสการบ้างจะทำให้การนมัสการมีความน่าสนใจ ทำให้ที่ประชุมไม่เกิดความรู้สึกซํ้าซากจำเจ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น