วันพุธที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2558

ความหมายและความเป็นมา

1. ความหมายแล:ความเป็นมาของการนมัสการ
ยินดีต้อนรับเข้าสู่การเรียนรู้เรืองการนมัสการ !! เราผู้ซึ่งเป็นคริสตชนได้นมัสการพระเจ้าอยู่เสมอทุกสัปดาห์ เราต่างเห็นคุณค่าของการนมัสการพระเจ้า และสอนกันและกันให้นมัสการพระองค์อยู่เสมอ จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะศึกษาให้รู้ชัดว่าการนมัสการพระเจ้าคืออะไร? สำคัญและมีคุณค่าอย่างไร? และการนมัสการพระเจ้าอย่างถูกต้องนั้นเป็นอย่างไร? เราจะเริ่มจากการศึกษาความหมายของคำด้วยกัน
ความหมายของนมัสการ
คำว่า “นมัสการ” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายว่าหมายถึง การแสดงความอ่อนน้อมด้วยการกราบไหว้ แต่คำว่า “นมัสการ” ในพระคัมภีร์แปลมาจากคำหลายคำ ในพระคัมภีร์เดิม คำว่า “นมัสการ” มาจากภาษาฮีบรูคำว่า “ซาคาห์” (Shachah) ซึ่งแปลตรงตัวหมายถึงการ “คุกเข่า” หรือ “กราบลง” อันเป็นวิธีแสดงความเคารพนับถือทางกาย หรือทางจิตใจ หรือทั้งสองอย่าง พระคัมภีร์เดิมใช้คำนี้โดยหมายถึงการแสดงความเคารพบูชา การเชื่อฟัง และการปรนนิบัติรับใช้ทางศาสนา ตัวอย่างเช่นเมื่อคนอิสราเอลได้ยินพระเจ้าตรัสกับโมเสส พระคัมภีร์บันทึกว่าพวกเขา “ก็เชื่อ เขากราบลงนมัสการ” (อพย.4:31)
ในพระคัมภีร์ใหม่ คำว่านมัสการมาจากภาษากรีกสองคำด้วยกัน คำแรกคือคำว่า “พรอสคูเนโอ” (Proskuneo) ซึงแปลตรงตัวหมายถึงการ “จูบมือ” ของผู้อื่น หรือ “กราบลง” ต่อผู้อื่นเพื่อแสดงความเคารพ พระเยซูทรงใช้คำนี้เมื่อตรัสกับหญิงชาวสะมาเรียว่า “พระเจ้าทรงเป็นพระวิญญาณ และผู้ที่นมัสการพระองค์ต้องนมัสการด้วยจิตวิญญาณและความจริง” (ยน.4:24)
คำที่สองคือคำว่า “ลีทัวเจีย” (Leitourgia) แปลตรงตัวได้ว่า “การกระทำของประชาชน” ในพระคัมภีร์ใหม่ใช้คำนี้หมายถึงการนมัสการของคริสตจักร (กจ.13:2) และขณะเดียวกันยังใช้แปลว่าการ “ปฏิบัติพันธกิจ” ของพระเยซูคริสต์ด้วย (ฮบ.8:6)
อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า การนมัสการพระเจ้าคือ การเข้ามาอยู่ต่อพระพักตร์พระเจ้าและแสดงความยำเกรงต่อพระองค์ทั้งทางร่างกาย จิตใจและจิตวิญญาณ
การนมัสการพระเจ้ามีทั้งการนมัสการที่เป็นส่วนตัว และการนมัสการที่เป็นส่วนรวม (นมัสการร่วมกับผู้อื่น) ในหนังสือเล่มนี้จะเน้นถึงการนมัสการส่วนรวมเท่านั้น

ประวัติความเป็นมาของการนมัสการพระเจ้า
การนมัสการของโลกยุคโบราณ
มนุษย์ถูกสร้างขึ้นมาให้เป็นสิ่งมีชีวิตที่แสวงหาพระเจ้า ซึ่งถึงแม้มนุษย์จะล้มลงในความบาป ทำให้ถูกตัดขาดจากพระเจ้าตั้งแต่ครั้งปฐมกาล แต่กระนั้น มนุษย์ก็ยังพยายามแสวงหาพระเจ้าอยู่ แม้จะไม่พบพระเจ้าองค์เที่ยงแท้ แต่ก็จะนมัสการสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นพระเจ้าตามความเข้าใจของตน การนมัสการจึง
เป็นเรื่องสากลของมนุษยชาติ มนุษย์ทุกชาติทุกภาษานมัสการสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาตลอดตั้งแต่ยุคโบราณ
การนมัสการของมนุษย์ยุคโบราณมักมีลักษณะดังนี้คือ (1) เป็นการนมัสการสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติ และมีพระเจ้าหลายองค์ เช่น นับถือดวงอาทิตย์ แม่น้ำ ความอุดมสมบูรณ์ เป็นต้น (2) นมัสการโดยใช้เครื่องบูชา และมีพิธีกรรมเชิงโชคลาง ไสยศาสตร์หรือความเป็นสิริมงคล เพื่อปัดเป่าวิญญาณที่ชั่วร้าย หรือลบล้างความโกรธของพระต่างๆ (3) มีเป้าหมายเพื่อให้พระเหล่านั้นตอบสนองความต้องการของมนุษย์ เช่น เพื่อให้เกิดความอยู่ดีกินดี ความอุดมสมบูรณ์ในการเพาะปลูก (4) ไม่มีการแยกแยะระหว่างพระเจ้าในฝ่ายวิญญาณกับปรากฏการณ์ธรรมชาติ (5) การถวายเครื่องบูชามักมีการฆ่า และเผาบนแท่นด้วยไฟ ซึ่งบางทีก็เรียกว่า “บูชายัญ” (6) การนมัสการยุคโบราณบางทีก็มีความหมายเป็นนัยทางสังคมด้วย เช่น เป็นการนมัสการเพื่อติดต่อกับบรรพบุรุษของคนที่ตายไปแล้ว 

การนมัสการพระเจ้าในพระคัมภีร์เดิมยุคปฐมกาลและยุคบรรพชนของอิสราเอล : แท่นบูชาส่วนตัวและครอบครัว
การนมัสการของคนที่เชื่อวางใจในพระเจ้าในสมัยพระคัมภีร์เดิมมีบางอย่างที่เหมือนคนยุคโบราณทั่วไป นั่นคือมีการเผาบูชา โดยการใช้ก้อนหินมาเรียงซ้อนกันเป็นแท่น แล้วนำสัตว์ที่ใช้เป็นอาหาร (เช่น แกะ) มาฆ่าและเผาบนแท่นนั้น แต่อย่างไรก็ตามก็ยังมีหลายอย่างแตกต่างจากของคนยุคโบราณโดยทั่วไป คือ (1) พระเจ้าของชนชาติอิสราเอลเป็นพระเจ้าองค์เดียว (อิสราเอลไม่นับถือพระเจ้าหลายองค์) (2) พระองค์เป็นบุคคลที่เคลื่อนไหว และกระทำการอยู่ในประวัติศาสตร์ของชนชาติอิสราเอล (ไม่ใช่เป็นสิ่งที่อยู่ในธรรมชาติทั่วๆไป) ในการนมัสการพระเจ้าของชนชาติอิสราเอลจึงเต็มไปด้วยการระลึกถึงเหตุการณ์ที่พระเจ้าทรงกระทำมากมาย (3) ชนชาติอิสราเอลนมัสการพระเจ้าโดยไม่มีรูปของพระเจ้า (รูปเคารพ, รูปปั้น) (4) การนมัสการพระเจ้าของชนชาติอิสราเอลมีลักษณะเป็นการติดต่อกันฝ่ายจิตวิญญาณ เห็นได้จากการที่พระเจ้าตรัสกับอาดัม (ปฐก.3:9) พระองค์ทรงยอมรับเครื่องบูชาของอาเบล และปฏิเสธของคาอินเพราะท่าทีในใจที่ไม่ถูกต้อง (ปฐก.4:2-5)
โนอาห์เป็นตัวอย่างที่เห็นชัดมากในการนมัสการของคนยุคโบราณที่เชื่อพระเจ้า เขาดำเนินชีวิตที่เชื่อฟังพระเจ้า พระองค์ใช้เขาให้ประกาศกับผู้คน พระเจ้าทรงสั่งให้เขาสร้างนาวาใหญ่ เขาก็สร้าง และในที่สุดเขาและครอบครัวก็รอดพ้นจากน้ำท่วม ท้ายที่สุดพวกเขาก็ออกจากเรือ และ “สร้างแท่นบูชาพระเจ้า และเลือกเอาสัตว์และนกประเภทไม่มลทินบางตัวมาเผาบูชาถวายที่แท่นนั้น” และพระคัมภีร์บันทึกให้เราทราบว่า “พระเจ้าทรงได้กลิ่นที่พอพระทัย” (ปฐก.8:20-21)
เหล่าบรรพชนของชนชาติอิสราเอลก็ยังคงใช้การนมัสการในรูปแบบของการสร้างแท่นบูชาเป็นของส่วนตัวและของครอบครัว เช่น อับราอัม ซึ่งเป็นผู้ที่เชื่อฟังพระเจ้า พระองค์ทรงพอพระทัยท่านอย่างมาก เมื่อครั้งที่จะถวายอิสอัคเป็นเครื่องบูชา ก็แสดงให้เห็นวิธีการนมัสการพระเจ้าว่าใช้แกะนำมาฆ่าและเผาบนแท่นบูชา เรียงฟืนอย่างเป็นระเบียบบนแท่นนั้น วางสิ่งมีชีวิตที่จะใช้เป็นเครื่องบูชาบนฟืน จับมีดขึ้นมาแทงสิ่งมีชีวิตนั้นจนตายบนแท่น และเผาด้วยไฟในที่สุด (ปฐก.22:1-า4)
อิสอัคได้เรียนรู้วิธีนมัสการจากอับราอัมผู้เป็นบิดา ก็นมัสการพระเจ้าในรูปแบบเดียวกัน พระคัมภีร์บอกว่าอิสอัคได้ “สร้างแท่นบูชา... และนมัสการออกพระนามพระเจ้า” (ปฐก.26:24-25)
ยาโคบได้รับพันธสัญญาจากพระเจ้าในความฝัน เมื่อตื่นขึ้นก็นมัสการโดยใช้วิธีเอาก้อนหินตั้งขึ้นเป็นเสาศักดิ์สิทธิ์และเทน้ำมันบนยอดเสานั้นโดยถือว่าสถานที่นั้นเป็นที่ประทับของพระเจ้า และยังได้มีการถวายหนึ่งในสิบแด่พระเจ้าอีกด้วย (ปฐก.28:18-22)
เราอาจสรุปได้ว่าการนมัสการพระเจ้าของผู้เชื่อในยุคโบราณและยุคบรรพชนมีลักษณะสำคัญดังนี้คือ (1) นมัสการพระเจ้าองค์เดียว (2) สร้างแท่นบูชา โดยการใช้ก้อนหินมาเรียงซ้อนกันเป็นแท่น และมักเลือกสถานที่พิเศษที่ตนมีประสบการณ์กับพระเจ้า เป็นสถานที่สร้างแท่นบูชา (3) ใช้สิ่งมีชีวิตที่เป็นสัตว์ และต้องเป็นสัตว์ชนิดที่ถือว่าไม่มีมลทิน (เช่น แกะ) นำมาฆ่าและเผาบนแท่นบูชา โดยเรียงฟืนอย่างเป็นระเบียบบนแท่นบูชานั้น วางสัตว์นั้นบนฟืน ใช้มีดแทงสัตว์นั้นจนตายบนแท่น และเผาด้วยไฟในที่สุด (4) ไม่ได้นมัสการโดยเน้นที่การทำพิธีกรรมเท่านั้น แต่ต้องมีท่าทีที่ยำเกรงพระเจ้า และดำเนินชีวิตที่เชื่อฟังพระเจ้าอย่างต่อเนื่องด้วย

การนมัสการพระเจ้าในยุคอพยพ : พันธสัญญาแล:เครื่องบูชา
ที่ภูเขาซีนาย ชนชาติอิสราเอลมีความสัมพันธ์กับพระเจ้าและนมัสการพระเจ้าโดยต้องมีพันธสัญญาระหว่างกัน พระเจ้าทรงเรียกร้องให้อิสราเอลนับถือพระองค์เป็นพระเจ้าองค์เดียว และไม่ให้สร้างรูปเคารพ รวมทั้งรักษาพระบัญญัติอื่นๆอีกรวมสิบประการ (อพย.20:1-18)
ในรูปแบบการนมัสการนั้นพระองค์ให้อิสราเอลสร้างพลับพลา (เต๊นท์นัดพบ) ขึ้นมาเพื่อเป็นที่นัดพบระหว่างพระองค์กับโมเสสซึ่งเป็นตัวแทนของชนชาติอิสราเอล และประชาชนชาวอิสราเอลก็จะนมัสการอยู่ด้านนอกเต๊นท์ ทรงให้สร้างหีบพันธสัญญาเพื่อใส่หินจารึกพระบัญญัติ ทรงให้โมเสสตั้งอาโรนและลูกหลานไว้เป็นตระกูลเลวีที่ทำหน้าที่ปุโรหิตเพื่อเป็นตัวแทนในการนมัสการของอิสราเอลในการถวายเครื่องบูชาแด่พระเจ้า มีการถือเทศกาลต่างๆด้วย และพลับพลานี้จะมีการย้ายไปเรื่อยๆตามการเดินทางที่พระเจ้าทรงนำจนกว่าจะถึงแผ่นดินคานาอัน
สรุปลักษณะสำคัญของการนมัสการในยุคนี้คือ
1. เปลี่ยนแปลงจากการนมัสการแบบทำเป็นส่วนตัวหรือครอบครัว มาเป็นแบบที่ประชุมของชุมชน
2. เปลี่ยนแปลงจากการนมัสการที่เป็นการถวายเครื่องบูชาด้วยตัวเอง มาเป็นการถวายเครื่องบูชาที่มีปุโรหิตเป็นผู้แทน คอยทำหน้าที่ถวายเครื่องบูชาโดยเฉพาะ ตนเองมีหน้าที่เพียงนำสัตว์มาให้ปุโรหิต แล้วคอยหมอบกราบอยู่ภายนอกเท่านั้น
3. เปลี่ยนแปลงจากการนมัสการที่แท่นบูชาของตนเองมาเป็นนมัสการรวมกับผู้อื่นที่พลับพลา ผู้ชายชาวยิวทุกคนต้องมานมัสการที่พระวิหารอย่างน้อยปีละ 3 ครั้ง ตามเทศกาลทั้งสาม คือ เทศกาลปัสกา เทศกาลเลี้ยงฉลองการเก็บเกี่ยว (เพ็นเทคอสต์) และเทศกาลอยู่เพิง (อพย.23:14-17) การถวายใดๆก็ต้องมาถวายที่พลับพลานี้
4. เปลี่ยนแปลงจากการนมัสการที่มีรูปแบบง่ายๆมาเป็นการนมัสการที่มีระเบียบแบบแผนซับซ้อนขึ้น มีการถวายเครื่องบูชาแยกเป็นประเภทต่างๆ

การนมัสการพระเจ้าในยุคผู้วินิจฉัย
ในยุคนี้ยังคงใช้รูปแบบของพลับพลาอยู่ เพียงแต่ว่าไม่ได้เคลื่อนย้ายพลับพลาไปที่ไหนอีกแล้ว เนื่องจากอิสราเอลได้เข้ามายึดครองแผ่นดินคานาอันได้อย่างสมบูรณ์แล้ว พวกเขาจึงตั้งพลับพลาไว้ที่เมืองชิโลห์ (1 ซมอ.1:3) อยู่ที่นั่นถึง 200 ปี แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีการตั้งแท่นบูชาตามที่ต่างๆกันอยู่ประปราย โดยเฉพาะที่ๆประสบชัยชนะในการรบ โดยการช่วยเหลือของพระเจ้า เช่น ที่กิลกาล (วนฉ.2:1 ) ที่เฮโบรน (2 ซมอ.5:3) ที่กิเบโอน (1 พกษ.3:4)

การนมัสการพระเจ้าในยุคพระวิหาร
เมื่อกษัตริย์ดาวิดขึ้นครองราชย์ก็มีดำริให้สร้างพระวิหารเพื่อให้เป็นอาคารนมัสการที่ถาวรและสวยงามแทนพลับพลาที่เป็นเพียงเต็นท์ แต่พระเจ้าไม่อนุญาตให้พระองค์สร้าง แต่ให้กษัตริย์ซาโลมอนผู้เป็นราชโอรสสร้างแทน เมื่อสร้างเสร็จการนมัสการก็เปลี่ยนจากนมัสการที่เต๊นท์พลับพลา มาเป็นที่พระวิหารที่ใหญ่โตหรูหราในกรุงเยรูซาเล็มแทน ส่วนรูปแบบและวิธีการก็เหมือนเดิม เพียงแต่พัฒนารูปแบบและรายละเอียดให้มีความเป็นทางการและอลังการยิ่งขึ้น เช่น การเน้นการร้องเพลง ดนตรีและการเต้นรำมากขึ้น

การนมัสการพระเจ้าในยุคที่อิสราเอลตกเป็นเชลย
เมื่อยูดาห์ (อิสราเอลฝ่ายใต้) และกรุงเยรูซาเล็มถูกบาบิโลนทำลาย พระวิหารก็ถูกทำลายด้วย และประชาชนถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลยที่บาบิโลน พวกเขาจึงไม่มีโอกาสได้นมัสการพระเจ้าอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน ไม่มีผู้เผยพระวจนะที่สั่งสอน อีกทั้งมีความกระหายที่จะรู้พระวจนะ สิ่งเหล่านี้ทำให้พวกเขาได้พัฒนาการนมัสการรูปแบบใหม่ขึ้นมา เป็นการก่อสร้างอาคารเพื่อการนมัสการพระเจ้าภายในชุมชนที่พวกเขาอยู่ เรียกว่า “ธรรมศาลา” เชื่อกันว่าธรรมศาลาน่าจะเกิดขึ้นในราวศตวรรษที่สามก่อนคริสตศักราช (ราว 300 ปีก่อนพระเยซูมาบังเกิด) โดยเริ่มในหมู่ชาวยิวที่กระจัดกระจายอยู่นอกอิสราเอลก่อน (Diaspora) ต่อมาก็แพร่หลายในหมู่ชาวยิวเป็นอย่างมาก จนกระทั่งทุกที่ที่มีชุมชนชาวยิวอยู่ก็จะมีการสร้างธรรมศาลาขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทั้งในและนอกอิสราเอล ไม่เว้นแม้แต่ในกรุงเยรูซาเล็มเองที่มีพระวิหารอยู่แล้ว ธรรมศาลากลายเป็นรูปแบบการนมัสการของศาสนายิวอย่างถาวรสืบต่อจนถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ตามศาสนายิวก็ยังมีความผูกพันกับพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็มอย่างเหนียวแน่น ธรรมศาลาทุกแห่งจึงต้องสร้างให้หันไปยังทิศที่กรุงเยรูซาเล็มตั้งอยู่ และแม้ว่าพระวิหารจะถูกทำลายลงไปแล้วกี่ครั้งก็ตาม พวกยิวก็ยังจะต้องพยายามสร้างขึ้นมาใหม่ให้ได้
ธรรมศาลา (Synagogue) มาจากคำภาษากรีกแปลว่า “สถานที่ประชุม” (ลก.7:5) รูปแบบการนมัสการของธรรมศาลาเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการนมัสการของอิสราเอลครั้งสำคัญ และยังเป็นต้นแบบของการนมัสการของคริสเตียนในยุคต่อมาอีกด้วย การนมัสการในรูปแบบของธรรมศาลา มีลักษณะสำคัญคือ (1) มีรูปแบบที่เป็นทางการน้อยกว่าการนมัสการในพระวิหาร (2) เน้นการสอนพระคัมภีร์ (พระคัมภีร์เดิมและธรรมบัญญัติของศาสนายิว) (3) ไม่มีการเน้นบทบาทของปุโรหิต ไม่มีการถวายสัตวบูชา แต่เน้นบทบาทของครูอาจารย์ผู้สอนธรรมบัญญัติ (รับบี) (4) ฆราวาสมีบทบาทมากขึ้น
องค์ประกอบของการนมัสการในธรรมศาลา มีดังนี้ คือ (1) อ่านพระคัมภีร์ และตีความหมายพระคัมภีร์ (2) ท่องหลักคำสอนของศาสนายิว ซึ่งมีชื่อเรียกว่า เชมา (Shema) (ฉธบ.6:4) (3) มีการใช้เพลงสดุดี บัญญัติสิบประการ คำอวยพร และคำว่า “อาเมน” (4) มีการอธิษฐาน (5) มีการใช้บทอธิษฐานขอการชำระ ซึ่งมีชื่อว่า “เคดูชา” (Kedushah)

การนมัสการพระเจ้าของคริสเตียนในยุคพระคัมภีร์ใหม่
คริสเตียนในยุคแรกก็นมัสการตามรูปแบบของยิวทั่วไปในเวลานั้นคือ ไปที่พระวิหารและธรรมศาลา โดยเฉพาะธรรมศาลาถือได้ว่าเป็นแม่แบบให้แก่การนมัสการของคริสเตียน แต่พวกเขาก็มีความแตกต่างจากยิวทั่วไปในเรื่องของสถานที่นมัสการ เนื่องจากพระเยซูทรงเคยสอนพวกเขาว่ามีสองสามคนประชุมกันที่ไหนในนามของพระองค์ พระองค์ก็จะทรงอยู่กับเขาที่นั่น (มธ.18:20) ด้วยเหตุนี้คริสเตียนยุคแรกจึงหลุดพ้นจากข้อจำกัดที่ว่าต้องนมัสการที่พระวิหารหรือธรรมศาลาเท่านั้น พวกเขาเริ่มใช้การนมัสการตามบ้านของกันและกัน (กจ.2:46) หรือแม้แต่ที่อื่นๆที่ตกลงกัน และเริ่มสร้างสถานที่นมัสการเป็นของตนเองเมื่อราวคริสตศตวรรษที่สาม (หลังจากพระเยซูคริสต์เสด็จขึ้นสู่สวรรค์แล้วถึงสองร้อยกว่าปี) 
ลักษณะพิเศษของการนมัสการของคริสเตียนยุคแรกที่แตกต่างจากศาลนายิวในเวลานั้น คือ
1. คริสเตียนมีการนมัสการที่ไม่จำกัดหรือยึดติดกับสถานที่อีกต่อไป ไม่ผูกพันกับกรุงเยรูซาเล็ม ไม่ผูกพันกับพระวิหาร
2. คริสเตียนมีการอ่านข้อเขียนของผู้นำของพวกตน เช่น อ่านจดหมายฝากของท่านเปาโล และพระกิตติคุณที่บันทึกเรื่องราวชีวิตของพระเยซูคริสต์ ฯลฯ จนในที่สุดข้อเขียนเหล่านี้ได้รับการยึดถือยิ่งกว่าธรรมบัญญัติและหนังสือผู้พยากรณ์ที่พวกยิวอ่านกันในธรรมศาลา
3. แม้ว่าคริสเตียนจะยังร้องเพลงสรรเสริญจากบทเพลงสดุดี แต่ก็ยังมีการร้องเพลงใหม่ๆที่ประพันธ์ขึ้นโดยพวกคริสเตียนด้วยกันเอง ดังเช่นที่พบในจดหมายฝากของท่านเปาโล เป็นบทเพลงเรื่องการถ่อมพระทัยของพระคริสต์ (ฟป.2:5-11) ท่านเปาโลได้หนุนใจให้คริสเตียนในขณะนั้นร้อง “เพลงสดุดี เพลงนมัสการ และเพลงสรรเสริญ” (อฟ.5:18-19; ดูเปรียบเทียบใน คส.3:16) เพลงสดุดี แน่นอนว่าหมายถึงบทเพลงจากพระคัมภีร์เดิมส่วนใหญ่อยู่ในหนังสือสดุดี ส่วนเพลงนมัสการ อาจเป็นเพลงที่แต่งขึ้นเองเพื่อใช้ในการนมัสการ และเพลงสรรเสริญอาจเป็นบทเพลงที่เกิดขึ้นทันทีจากจิตใจที่อยากจะสรรเสริญพระเจ้า
4. มีการให้บัพติศมาและทำพิธีมหาสนิท ซึ่งศาสนายิวไม่มี
5. เน้นถึงพระเยซูคริสต์ และพระวิญญาณบริสุทธิ์ ซึ่งศาสนายิวไม่มี
6. ใช้วันอาทิตย์มาเป็นวันนมัสการแทนวันสะบาโตเดิมที่เป็นวันเสาร์ โดยถือว่าวันอาทิตย์เป็นวันขององค์พระผู้เป็นเจ้า เนื่องจากพระเยซูทรงฟื้นคืนพระชนม์ในวันนั้น จึงหันมานมัสการในวันอาทิตย์เพื่อเป็นการระลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าว (กจ.20:7; 1 คร.16:2; วว.1:10)
องค์ประกอบของการนมัสการของคริสเตียนในยุคแรก ที่เห็นได้จากพระคัมภีร์ใหม่มีดังนี้ คือ (1) การแสดงออกถึงการสรรเสริญพระเจ้าจะใช้การร้องเพลงเป็นหลัก (อฟ.5:18-21; คส.3:16; 1 คร.14-15) (2) มีการอ่านพระคัมภีร์ (คส.4:16; 1 ธส.5:17; 1 ทธ.4:13) (3) มีการอธิษฐาน (กจ.2:42) (4) ผู้เข้า
ร่วมการนมัสการมีการพูดว่า “อาเมน” เพื่อเป็นการเห็นด้วยกับผู้นำ (ดู 1 คร.14:16) (5) มีการเทศนาหรืออรรถาธิบายพระคัมภีร์ (กจ.2:40; 2 ทธ.4:1-4) (6) มีการกล่าวเตือนสติกัน (ฮบ.3:13; 10:24; 1 ธส.3:2; 2 ธส.3:12; ทต.2:15) (7) มีการถวายทรัพย์ (1 คร.16:2; 2 คร.9:6-7, 10-13) (8) มีการกล่าวถวายพระพรแด่พระเจ้า (อฟ.1:3) (9) มีการสารภาพบาป (1 ทธ.6:12; ยก.5:16) (10) มีการประกอบพิธีบัพติศมาและมหาสนิท (กจ.2:38-41; กท.3:27; 1 คร.11:20-34)

การนมัสการของคริสตจักรยุคต่อมาจนถึงปัจจุบัน
คริสตจักรยุคต่อมาจนถึงปัจจุบันล้วนยึดแนวทางของคริสตจักรยุคแรกเป็นแม่แบบ แต่ก็มีการพัฒนารูปแบบในรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกันไปในแต่ละหลักความเชื่อ และวัฒนธรรมท้องถิ่น เช่นถ้าเป็นคริสตจักรคาธอลิกก็จะเน้นเรื่องพิธีมิซซา (มหาสนิท) มากกว่าการเทศนาสั่งสอนพระคัมภีร์ ส่วนคริสตจักรโปรเตสแตนท์ก็จะเน้นการเทศนาสั่งสอนมากกว่าพิธีมหาสนิท นอกจากนี้ ในคริสตจักรโปรเตสแตนท์เองก็ยังมีรูปแบบที่แตกต่างกันมาก บางคณะก็จะเน้นระเบียบพิธีการในการนมัสการที่เคร่งครัดมาก แต่บางคณะก็ไม่เคร่งครัดในระเบียบพิธีการ นักวิชาการด้านคริสตจักรพบว่า คริสตจักรสมัย

ใหม่มีแนวโน้มที่จะจัดการนมัสการที่สร้างความน่าสนใจและดึงดูดคนทั่วไปมากขึ้นโดยใช้วิธีการหลายรูปแบบประกอบกัน ไม่ว่าจะเป็นการใช้เพลงและดนตรีที่ร่วมสมัยเข้ากับรสนิยมของผู้ร่วมนมัสการ การนำนมัสการที่คล้ายกับการแสดงคอนเลิร์ท การใช้เครื่องฉายเนื้อเพลงแทนหนังสือเพลง การตกแต่งเวทีและสถานที่ ระบบแสงสีเสียง การใช้สื่อประกอบ การแสดงประกอบการนมัสการ ฯลฯ

ทำไมต้องนมัสการ?

2. นมัสการทำไมและนมัสการอย่างไร
จากบทแรกเราทราบแล้วว่า การนมัสการพระเจ้า คือ การเข้ามาอยู่ต่อพระพักตร์พระเจ้าและแสดงความยำเกรงต่อพระองค์ทั้งทางร่างกาย จิตใจและจิตวิญญาณ แต่ทำไมเราจึงต้องนมัสการพระเจ้า การนมัสการพระเจ้าสำคัญอย่างไร?
ทำไมเราจึงต้องนมัสการพร:เจ้า ?
มีสองเหตุผลหลักที่ทำให้เราจำเป็นต้องนมัสการพระเจ้า ข้อแรกคือ พระเจ้าทรงเรียกผู้เชื่อให้มีการชุมนุมกันเพื่อนมัสการพระองค์ และข้อสอง พระเจ้ามีพระประสงค์ให้ผู้เชื่อถวายเกียรติแด่พระองค์ และการนมัสการก็เป็นวิธีการที่ชัดเจนที่สุดที่ผู้เชื่อจะได้ถวายเกียรติพระองค์ 
1. พระเจ้าทรงเรียกผู้เชื่อให้มีการชุมนุมกันเพื่อนมัสการพระองค์
เห็นได้จากการที่พระองค์ทรงให้ฟาโรห์ปล่อยชนชาติอิสราเอลให้ออกจากอียิปต์เพื่อไปนมัสการพระองค์ (อพย.7:16) ในถิ่นทุรกันดารทรงให้อิสราเอลรวมตัวกันนมัสการพระองค์ที่ภูเขาซีนาย ต่อมาเมื่ออิสราเอลได้เข้าในคานาอันแล้ว การจะรวมคนทั้งชาติให้นมัสการร่วมกันตลอดเวลากลายเป็นสิ่งที่ทำได้ยากขึ้น พระองค์ก็ยังทรงให้คนอิสราเอลรวมตัวกันนมัสการที่พลับพลาหรือพระวิหารตามเทศกาลปีละสามครั้ง
พระองค์ไม่ได้ให้เฉพาะคนอิสราเอลนมัสการพระองค์เท่านั้น แต่พระประสงค์สูงสุดคือ ให้คนทุกชาติรวมตัวกันนมัสการพระองค์ด้วย (อสย.2:2-4; 25:6-8; 49:22; 66:18-21; ฮบ.12:18-29) และสิ่งนี้สำเร็จได้ในคริสตจักรท้องถิ่นที่กระจัดกระจายกันอยู่ทั่วโลกนั่นเอง
ยิ่งกว่านั้น คริสเตียนยุคแรกเห็นความสำคัญและเป็นแบบอย่างในการนมัสการร่วมกัน ไมใช่มีแต่การนมัสการส่วนตัวหรือภายในครอบครัวอย่างเดียว เช่น ผู้เชื่อยุคแรกมีการนมัสการร่วมกันเสมอๆ (กจ.2:41-47) เปาโลบอกผู้เชื่อในเมืองเอเฟซัสว่า “จงปราศรัยกันด้วยเพลงสดุดี เพลงนมัสการ และเพลงสรรเสริญ” (อฟ.5:19) แสดงให้เห็นภาพว่าให้ผู้เชื่อมีการร่วมกันนมัสการ และผู้เขียนพระธรรมฮีบรูหนุนใจว่า “อย่าขาดการประชุมเหมือนอย่างบางคนที่ขาดอยู่นั้น...” (ฮบ.10:25)
2. พระเจ้ามีพระประสงค์ให้ผู้เชื่อถวายเกียรติแด่พระองค์ และการนมัสการก็เป็นวิธีการที่ชัดเจนที่สุด ที่ผู้เชื่อจะได้ถวายเกียรติพระองค์
พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์เพื่อ “พระสิริ” ของพระองค์ (อสย.43:6-7) ผู้ที่เชื่อวางใจในพระเยซูได้รับกำหนดและรับการแต่งตั้งให้เป็นที่ถวายสรรเสริญแด่พระสิริของพระองค์ (อฟ.1:12) พระเจ้าทรงเป็นผู้ทรงสมควรที่จะได้รับการถวายเกียรติ พระองค์ทรงรักษาพระเกียรติของพระองค์ (อพย.20:5; อสย.48:11) และพระองค์ก็ทรงต้องการการถวายเกียรติจากสิ่งที่พระองค์ทรงสร้างด้วย (วว.4:11) ในการ
นมัสการเป็นช่องทางที่ชัดเจนและตรงที่สุดที่ผู้เชื่อจะได้แสดงการสรรเสริญพระเจ้า และถวายเกียรติแด่พระเจ้า ไม่เพียงแต่เป็นที่รับรู้กันภายในหมู่ผู้เชื่อเท่านั้น แต่เป็นช่องทางที่ประจักษ์แก่คนที่ยังไม่รู้จักพระเจ้าได้อย่างชัดเจนที่สุดอีกด้วย (กจ.2:46-47)

การนมัสการที่ถูกต้องคืออย่างไร ?
พระเยซูตรัสกับหญิงชาวสะมาเรียว่า “...ผู้ที่นมัสการอย่างถูกต้องจะนมัสการด้วยจิตวิญญาณและความจริง” (ยน.4:23) วลีที่ว่า “ผู้ที่นมัสการอย่างถูกต้อง” บ่งชี้เป็นนัยว่ามีผู้ที่นมัสการที่ไม่ถูกต้องด้วย ในข้อ 22 พระองค์ตรัสว่า “ซึ่งเจ้านมัสการนั้นเจ้าไม่รู้จัก ซึ่งพวกเรานมัสการเรารู้จัก” ก็บ่งชี้เป็นนัย
ว่ามีบางคนนมัสการพระเจ้าอย่างไม่เข้าใจ ไม่ถูกตอง และบางคนก็นมัสการอย่างเข้าใจ นมัสการอย่างถูกต้อง วิธีนมัสการที่ถูกต้องที่ปรากฏในพระคัมภีร์คือ
1. ผู้นมัสการต้องนมัสการด้วยจิตวิญญาณและความจริง พระเยซูตรัสว่า ผู้ที่จะนมัสการพระเจ้าต้องนมัสการด้วยจิตวิญญาณและความจริง พระองค์ทรงยํ้าว่าพระบิดาทรงแสวงหาคนเช่นนี้นมัสการพระองค์ (ยน.4:23-24; ลก.1:46-47) การนมัสการด้วยจิตวิญญาณ หมายความว่าในการนมัสการต้องมีความสัมพันธ์ตรงระหว่างจิตวิญญาณของผู้นมัสการกับพระวิญญาณของพระเจ้า
ฉะนั้นการนมัสการจึงไม่ควรมีท่าทีและบรรยากาศแบบที่เรียกว่า “นมัสการเรื่องพระเจ้า” (พระเจ้าเป็นบุคคลที่สาม คือเป็นผู้ที่ถูกกล่าวถึง) แต่ควรเป็นการ “นมัสการต่อพระเจ้า” (พระเจ้าเป็นบุคคลที่สอง คือเป็นผู้ที่เราพูดด้วยโดยตรง) เช่น เวลาร้องเพลงควรเป็นการร้องเพลงต่อพระเจ้า เลือกเนื้อเพลงที่เป็นการร้องต่อพระเจ้าโดยตรง ไม่ใช่ร้องเพลงเกี่ยวกับพระเจ้า เปาโลบอกว่าให้เรา “ร้องเพลงสรรเสริญและสดุดีจากใจของท่าน ถวายองค์พระผู้เป็นเจ้า” (อฟ.5:19)
อีกประการหนึ่งที่สำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้คือ ในการนมัสการ เราต้องพยายามให้ผู้เชื่อแต่ละคนได้มีการนมัสการพระเจ้าเป็นส่วนตัว ให้จิตวิญญาณของแต่ละคนนมัสการพระเจ้าโดยตรง ไม่ใช่มาชมการนมัสการของผู้นำนมัสการ เช่น ในการร้องเพลงนมัสการ ควรเน้นเพลงที่ผู้นมัสการทุกคนร้องได้ และให้ทุกคนร่วมร้อง มากกว่าจะเน้นที่เพลงพิเศษของคณะนักร้อง
การนมัสการด้วยจิตวิญญาณยังหมายความอีกว่า ในการนมัสการจะเน้นท่าทีภายในจิตวิญญาณของผู้นมัสการมากกว่าจะเน้นที่สถานที่นมัสการ หรือรูปแบบการนมัสการ หรืออากัปกิริยาในการนมัสการ
ส่วนการนมัสการด้วยความจริง หมายความว่า เราต้องนมัสการพระเจ้าโดยมุ่งตรงไปที่องค์พระเยซูคริสต์ พระเยซูคริสต์ตรัสว่า “เราเป็นทางนั้น เป็นความจริง และเป็นชีวิต ไม่มีผู้ใดมาถึงพระบิดาได้นอกจากจะมาทางเรา ถ้าท่านทั้งหลายรู้จักเราแล้ว ท่านก็จะรู้จักพระบิดาของเราด้วย” (ยน.14:6-7) จากข้อนี้พระเยซูกำลังตรัสว่าพระองค์คือ “ความจริง” ฉะนั้นที่บอกว่าต้องนมัสการด้วยความจริงจึงหมายถึงต้องนมัสการพระเยซู ถ้าไม่นมัสการพระเยซูคริสต์ก็จะไม่ถือว่านมัสการพระเจ้าอย่างถูกต้อง จะนมัสการไม่ถึงพระบิดา ดังนั้นผู้ที่จะนมัสการด้วยความจริงได้จึงต้องเชื่อวางใจในพระเยซูคริสต์ รวมทั้งเข้าใจและเห็นคุณค่าของการไถ่บาปของพระองค์
การนมัสการพระเจ้าด้วยความจริงยังหมายความอีกว่า เราต้องนมัสการพระเจ้าด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องตามหลักพระวจนะ เช่น นมัสการพระเจ้าผู้เที่ยงแท้องค์เดียว ไม่นมัสการพระอื่นอีก หรือนมัสการพระเจ้าโดยไม่ใช้รูปเคารพ เป็นต้น
2. ผู้นมัสการต้องตระหนักถึงพระลักษณะและพระราชกิจของพระเจ้า เมื่อรับรู้และตระหนักถึงพระลักษณะและพระราชกิจของพระองค์แล้ว เราจึงจะตอบสนองต่อพระองค์อย่างถูกต้องได้ (อสย.6:3; มธ.14:33) ผู้นมัสการไม่ควรสรรเสริญพระเจ้าอย่างไม่เข้าใจ เมื่อจะร้อง “ฮาเลลูยา” (แปลว่าสรรเสริญพระเจ้า) ควรรู้ด้วยว่าเราสรรเสริญพระองค์เพราะอะไร
3. ผู้นมัสการต้องอยู่ในท่าทีและบรรยากาศที่มีความเคารพและยำเกรงพระเจ้า (ฮบ.12:28-29) พระเจ้าทรงเป็นองค์ผู้สูงสุด การกระทำใดๆต่อพระองค์ต้องกระทำด้วยความเคารพยำเกรงให้สมพระเกียรติของพระองค์ ต้องตระหนักว่าคำว่า “นมัสการ” หมายถึงการ “กราบลง” ในภาษาเดิม
4. ผู้นมัสการต้องมีชีวิตที่บริสุทธิ์ (ฮบ.12:14; มธ.5:8; 1 ยน.3:21; ยก.4:8) ถ้าชีวิตหรือแม้แต่ในจิตใจไม่บริสุทธิ์แล้ว จะไม่สามารถเป็นที่ยอมรับของพระเจ้าได้ ฉะนั้นการสารภาพบาปจึงเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับผู้นมัสการพระเจ้า
5. ผู้นมัสการต้องอยู่ในท่าทีและบรรยากาศแห่งการอธิษฐาน (มธ.21:12-13; มธ.6:6) ในการนมัสการ ผู้นมัสการควรจดจ่ออยู่ที่พระเจ้าทุกขั้นตอน ไม่ควรให้อะไรมาดึงความสนใจหรือสมาธิของเราไปจากพระเจ้าเลย
6. ผู้นมัสการต้องอยู่ในท่าทีและบรรยากาศที่มีระเบียบ ไม่วุ่นวาย  (1 คร.14:33; เปรียบเทียบกับข้อ 40) เพื่อให้การนมัสการเป็นประโยชน์ต่อผู้เชื่อทุกคน รวมทั้งเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่ยังไม่เชื่อที่อยู่ในการนมัสการด้วย ไม่ควรให้การนมัสการถูกมองว่ามีอาการ “คลั่ง” เกิดขึ้น (1 คร.14:23)
7. ผู้นมัสการต้องมีการพิจารณาตนเอง (1 คร.14:24-25; 11:28-32) เมื่อได้พบพระเจ้า เราต้องมีการตระหนักถึงความไม่เหมาะสม ไม่คู่ควร และไม่ถูกต้องของตนเอง รวมทั้งพร้อมที่จะสารภาพ และยอมให้พระองค์ทำกิจในชีวิตเรา ต้องพิจารณาว่าในขณะที่กระทำสิ่งต่างๆในการนมัสการนั้น เราเห็นพ้องกับสิ่งนั้นอย่างแท้จริงหรือไม่ เช่น เมื่อถวายทรัพย์ เรามีท่าทีว่าเราถวายตัวแก่พระเจ้าหรือไม่ เมื่อเราร้องเพลงสรรเสริญ เราสรรเสริญพระเจ้าจริงหรือไม่
8. ผู้นมัสการต้องให้พระวิญญาณบริสุทธิ์ทำกิจของพระองค์ในการนมัสการ พระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นผู้ที่เสริมกำลังในการนมัสการของผู้เชื่อ ทั้งในการอธิษฐาน (รม.8:26-27) การร้องเพลงสรรเสริญ (อฟ.5:18-20) การเทศนาสั่งสอนพระวจนะและการฟังพระวจนะ (1 คร.14:37; กจ.4:31) ยิ่งกว่านั้น ผู้นมัสการควรมีโอกาสได้ใช้ของประทานของพระวิญญาณบริสุทธิ์เพื่อเสริมสร้างซึ่งกันและกัน
เช่น พระคัมภีร์กล่าวถึงการเผยพระวจนะ การพูดภาษาแปลกๆ ที่ต้องมีการแปล เป็นต้น การนมัสการที่ผู้เชื่อได้ใช้ของประทานของพระวิญญาณบริสุทธิ์จะส่งผลทำให้คริสตจักรจำเริญขึ้น (1 คร.14:12)
9. ผู้นมัสการต้องนมัสการด้วยความชื่นชมยินดี พระเจ้าทรงมีพระประสงค์ให้ผู้เชื่อชื่นชมยินดีในพระองค์ทุกเวลา (ฟป.4:4) พระเยซูตรัสว่าให้ผู้ที่ได้รับการอภัยบาปจงชื่นใจเถิด (มธ.9:2) คริสเตียนยุคแรกร่วมใจกันนมัสการด้วยความ “ชื่นชมยินดี” (กจ.2:46) มีข้อพระคัมภีร์จำนวนมากที่ได้เชิญชวนให้คนของพระเจ้าสรรเสริญพระองค์ด้วยความชื่นชมยินดี สรรเสริญด้วยความชื่นบาน สรรเสริญ
ด้วยใจยินดี (สดด.63:5; 66:1; 89:2,4,6; 100:1; 32:1) บรรยากาศของการนมัสการควรโน้มนำให้ผู้นมัสการมีความชื่นชมยินดีในพระเจ้า และถึงแม้ว่าบางขณะจะมีความโศกเศร้าเนื่องด้วยการสำนึกบาป แต่ในที่สุดก็จะนำไปสู่ความชื่นชมยินดีในการได้รับการอภัย
10. ผู้ที่นมัสการต้องมีความรักซึ่งกันและกัน พระคัมภีร์ได้กล่าวถึงการร่วมประชุมรับประทานขนมปังและนำองุ่นในพิธีมหาสนิทว่า “จงคอยซึ่งกันและกัน” (1 คร.11:33) และยังกล่าวถึง “การประชุมเลี้ยงผูกรัก” ของบรรดาผู้เชื่อ (ยด.12) สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงบรรยากาศในการนมัสการว่าผู้นมัสการต้องมีความรักซึ่งกันและกัน ห่วงใยซึ่งกันและกัน พะวงซึ่งกันและกัน

การนมัสการที่ไม่ถูกต้องที่ปรากฏในพระคัมภีร์
พระคัมภีร์กล่าวถึงการนมัสการพระเจ้าที่พระองค์ทรงถือว่าไม่ถูกต้อง และทรงไม่ยอมรับอยู่หลายครั้ง ซึ่งนำมาประมวลได้ดังนี้
• การนมัสการด้วยปากเท่านั้น มิใช่มาจากความคิดและจิตใจ (อสย.29:13-14; มธ.15:8; มก.7:6 ปากใกล้ใจห่าง)
• การนมัสการซึ่งเป็นพิธีรีตองเท่านั้น มิใช่อย่างจริงใจ (อสย.1:11-14; ยอล.2:13)
• การนมัสการด้วยความประสงค์ที่ไม่บริสุทธิ์ (สภษ. 21:27 (เช่นใน มธ.6:1); ยรม.7:9-11; อสค.33:30-31)
• การนมัสการด้วยใจและชีวิตที่ไม่ยอมทิ้งความบาปชั่ว (สดด.66:18; สภษ.21:27; อสย.1:13,15; 59:1-2; พคค.3:40-44)
• การนมัสการด้วยใจและชีวิตที่ไม่ยอมเชื่อฟังพระเจ้า (สภษ.1:24-30; อสย.66:3-4; ยรม.6:10,19-20; อสค.33:30,31; อมส.5:21-24; ยรม.7:13; มคา.6:6-8; อสค.12:2)
• การนมัสการโดยพี่น้องคริสเตียนยังมีเรื่องขัดใจกันอยู่ (มธ.5:23-24)
• การนมัสการโดยยังไม่ยอมให้อภัยคนอื่น (มธ.6:14-15)
• การนมัสการพระเจ้าโดยยังนับถือพระอื่น ๆ (อพย.20:3; อสค.16:1-59)
• การนมัสการพระเจ้าโดยใช้รูปเคารพ (อพย.20:4; อสค.14:3)

ท่าทางในการนมัสการ
การนมัสการไม่สำคัญที่ท่าทางภายนอก พระคัมภีร์บันทึกท่าทางในการนมัสการไว้หลายอย่าง แต่ไม่มีการกำหนดหรือจำกัดว่าจะต้องใช้ท่าไหนโดยเฉพาะ เช่น กราบลง (วว.4:10; 14) นิ่งสงบ (ฮบก.2:20; ศฟย.1:7) คุกเข่าลง (สดด.95:6; ฟป.2:10) เต้นรำ (อพย.15:20; 2 ซมอ 6:14; สดด 149:3) ยืน
ขึ้น (นหม.8:5) ก้มศีรษะ (1 พศด.29:20) ตบมือ และโห่ร้องไชโย (สดด.47:1) ถอดรองเท้า (อพย.3:5) ชูมือขึ้น (นหม.8:6; สดด 63:4; 141:2)
เราสามารถสรุปได้ว่าการนมัสการด้วยท่าทางไหนไม่ใช่สิ่งที่พระคัมภีร์เจาะจงชัด สิ่งที่จำเป็นคือ เราต้องนมัสการด้วยความจริงใจ (1 ซมอ.16:7; 1 พศด.28:9; 29:17 ; อสย.29:13; สดด.145:18; ยรม.4:4; ยอล.2:13; ยน.4:24; 2 คร.9:7; อฟ.5:19 เป็นต้น) นอกจากนี้ คริสตจักรควรเลือกใช้ท่าทางที่เหมาะสำหรับกาลเทศะและสำหรับอัธยาศัยของคริสเตียนในท้องถิ่นนั้นๆ เพื่อให้คริสเตียนแต่ละคนได้สำแดงความรัก ความกตัญญูและความเคารพต่อพระเจ้าโดยท่าทางที่เหมาะสมสำหรับเขา และควรคำนึงถึงวัฒนธรรมท้องถิ่นด้วยว่า ท่าทางอย่างไรที่จะทำให้คนที่ยังไม่เชื่อพระเจ้าในท้องถิ่นนั้นรู้สึกได้ว่าคริสเตียนมีความเคารพยำเกรงหรือชื่นชมยินดีต่อพระเจ้าของตน

ผลของการนมัสการอย่างถูกต้อง
พระคัมภีร์ได้บอกถึงผลดีของการนมัสการพระเจ้าอย่างถูกต้องไว้หลายประการ ประมวลได้ดังนี้
• ทำให้เราชื่นชมยินดีในพระเจ้า (สดด.27:4; 16:11; 73:25; 84:1-2,4,10; กจ.24:52-53; วว.4:8)
• ทำให้พระเจ้าปีติยินดีในเรา (อสย.62:3-5; ศฟย.3:17)
• ทำให้เราเข้าใกล้พระเจ้า (ฮบ.9:1-7; 10:19; 10:22; 12:18-24; 12:28-29)
• ทำให้พระเจ้าเข้าใกล้เรา (ยก.4:8; 2 พศด.5:13-14; สดด.22:3)
• ทำให้พระเจ้าทรงกระทำกิจต่อเรา (1 คร.14:26; คส.3:16; อฟ.5:19; ฮบ.10:24-25) ในการนมัสการ พระวิญญาณของพระเจ้าจะทรงทำกิจในผู้นมัสการ ยิ่งกว่านั้น ผู้นมัสการก็จะได้รับการเสริมสร้างขึ้นผ่านทางการรับใช้ของกันและกันอีกด้วย
• ศัตรูของพระเจ้าจะหนีพ่ายไป (2 พศด.20:21-22)
• คนที่ยังไม่เชื่อพระเจ้าจะทราบว่าพระเจ้าทรงสถิตอยู่ และสามารถช่วยเขามาสู่ความเชื่อในพระคริสต์ได้ง่ายขึ้น (1 คร.14:25; กจ.2:11)

คุณค่าอันถาวรของการนมัสการ
การนมัสการพระเจ้าเป็นสิ่งที่พระเจ้าทรงถือว่ามีคุณค่าสูงสุดทั้งในปัจจุบันและจะคงคุณค่าสูงสุดอยู่ตลอดไปเป็นนิตย์ มีเหตุผล 3 ประการที่ยืนยันถึงเรื่องนี้ ประการแรก การที่ในพระคัมภีร์เต็มไปด้วยการสรรเสริญพระเจ้า มีถ้อยคำที่กล่าวว่า “สรรเสริญพระเจ้า” หรือถ้อยคำทำนองเดียวกันถึงเกือบ 200 ครั้ง
ประการที่สอง มีพระคัมภีร์มากมายที่เน้นถึงการนมัสการ และการสรรเสริญพระเจ้าว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำอยู่เสมอในชีวิต และจะทำไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่ เช่น ข้าพเจ้าจะสรรเสริญพระเจ้าตลอดไป (สดด.34:1) ...จะสรรเสริญพระองค์วันยังคํ่า (สดด.35:28) ...จะกล่าวสรรเสริญพระองค์ตลอดชั่วชาติพันธ์ (สดด.79:13) ...จะสรรเสริญพระองค์วันละเจ็ดครั้ง (สดด.119:164) คำสรรเสริญพระองค์อยู่ที่ปากข้าพเจ้าเรื่อยไป (สดด.34:1) ...จะสรรเสริญพระเจ้าตราบเท่าที่ข้าพเจ้ายังมีชีวิตอยู่... (สดด.146:2) พระคัมภีร์มีบันทึกว่าคริสเตียนยุคแรกมีการร่วมกันนมัสการทั้งที่พระวิหารและตามบ้าน “ทุกวันเรื่อยไป” (กจ.2:46)
และประการสุดท้าย พระคัมภีร์ได้บรรยายภาพของผู้ที่อยู่ในสวรรค์ว่า จะเต็มไปด้วยการนมัสการพระเจ้า (วว.4:8-11; 5:11-14) สิ่งนี้บ่งชี้ว่าการนมัสการพระเจ้าจะไม่มีการสิ้นสุดลง
ฉะนั้น สำหรับคริสเตียนแล้ว การนมัสการพระเจ้าจึงเป็นสิ่งที่มีคุณค่าสูงสุดในชีวิตอย่างไม่มีที่สิ้นสุด สำคัญทั้งในชีวิตนี้และชีวิตในสวรรค์

องค์ประกอบของการนมัสการ
องค์ประกอบของการนมัสการพระเจ้าที่จะกล่าวถึงในที่นี้จะเน้นรูปแบบพื้นฐานของคริสตจักรโปรแตสเตนท์ทั่วๆ ไปที่ยึดองค์ประกอบของคริสตจักรยุคแรกเป็นแม่แบบและมีการพัฒนาสืบเนื่องต่อมา โดยทั่วไปแล้วในการนมัสการจะมีองค์ประกอบดังนี้ (1) เพลงและดนตรีนมัสการ (2) อธิษฐาน (3) การ
อ่านพระวจนะ (4) การเทศนาสั่งสอนพระวจนะ (5) พิธีบัพติศมาและมหาสนิท (6) การถวายทรัพย์ (7) การกระทำอื่นๆในการนมัสการ เช่น การเชิญชวนให้นมัสการ การกล่าวต้อนรับ ประกาศของคริสตจักร เป็นต้น

รายการนมัสการ
ในการนำองค์ประกอบในการนมัสการมาจัดเป็นรายการนมัสการนั้น มักดำเนินตามขั้นตอนที่เห็นได้จากพระธรรมอิสยาห์ บทที่ 6 ข้อ 1 ถึง 8 เมื่ออิสยาห์ได้พบกับพระเจ้า ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้
ขั้นตอนแรก : สรรเสริญ ข้อ 1-4 เสราฟิมสรรเสริญพระเจ้าว่า “บริสุทธิ์ บริสุทธิ์ บริสุทธิ์” แล้วพระเจ้าก็เสด็จมาประทับอยู่เต็มพระวิหาร
ขั้นตอนที่สอง : สารภาพ/อธิษฐาน ข้อ 5-7 เมื่ออิสยาห์ได้พบพระเจ้าผู้บริสุทธิ์ เขาก็รู้สึกถึงความผิดบาปและไม่สมควรของตนเอง จึงสารภาพบาป แล้วพระเจ้าก็ทรงชำระบาปให้แก่เขา
ขั้นตอนที่สาม : ฟังพระวจนะ ข้อ 8 ก. เมื่ออิสยาห์ได้รับการชำระให้บริสุทธิ์แล้ว พระเจ้าก็ทรงตรัสกับเขาถึงน้ำพระทัยของพระองค์ที่มีต่อเขา
ขั้นตอนที่สี่ : ถวายตัว (ตอบสนองพระวจนะ) ข้อ 8 ข.เมื่ออิสยาห์ได้ยินพระวจนะ เขาก็ตอบสนองต่อพระวจนะนั้นด้วยการถวายตัวรับใช้พระเจ้า
ฉะนั้นในการจัดรายการนมัสการจึงมักจัดในรูปแบบข้างต้นดังตัวอย่างต่อไปนี้
นมัสการด้วยการสรรเสริญ 
1. ดนตรีบรรเลงเตรียมใจให้สรรเสริญพระเจ้า
2. คำเชิญซวนให้นมัสการ (อาจอ่านพระวจนะที่มีเนื้อหาเตรียมใจให้สรรเสริญพระเจ้า)
3. ร้องเพลงนมัสการแห่งการสรรเสริญ (อาจร้องเป็นเพลงเดียวหรือชุดเพลงสั้นที่ช่วยนำใจที่
ประชุมให้สรรเสริญพระเจ้า) 
นมัสการด้วยการอธิษฐาน
4. กล่าวต้อนรับ
5. อ่านพระวจนะ (ที่ประชุมอ่านพร้อมกับผู้นำหรืออ่านสลับกับผู้นำ)
6. ร้องเพลงนมัสการแห่งการอธิษฐาน
7. อธิษฐานสารภาพบาป ทูลขอ หรือขอบพระคุณพระเจ้า
นมัสการด้วยการฟังพระวจนะ 
8. ร้องเพลงนมัสการแห่งหลักความเชื่อ
9. เทศนา
นมัสการด้วยการถวายตัว
10. ร้องเพลงนมัสการแห่งการถวายตัว (ตอบสนอง)
11. อธิษฐานเผื่อการถวายทรัพย์
12. ถวายทรัพย์
13. ประกาศของคริสตจักร
14. ร้องเพลงสรรเสริญและทูลขอพระพรปิดการนมัสการ
แต่ในปัจจุบัน มีแนวคิดใหม่ในเรื่องรูปแบบการนมัสการที่ไม่เน้นระเบียบ พิธีการ หรือขั้นตอนมากนัก แต่เน้นการร้องเพลงสรรเสริญ และการจดจ่ออยู่ที่พระเจ้าอย่างต่อเนื่อง มีรูปแบบพอสังเขปดังนี้
1. ดนตรีบรรเลงเตรียมใจให้สรรเสริญพระเจ้า
2. คำเชิญชวนให้นมัสการ (อาจอ่านพระวจนะที่มีเนื้อหาเตรียมใจให้สรรเสริญพระเจ้า)
3. เพลงนมัสการ - เน้นเพลงสรรเสริญ มักเริ่มด้วยเพลงเร็วเพื่อให้ที่ประชุมรู้สึกปีติยินดีในพระเจ้า แล้วจึงต่อด้วยเพลงช้า เพื่อให้ที่ประชุมมีใจสงบและอธิษฐานต่อพระเจ้า
การร้องเพลงจะร้องหลายเพลงติดต่อกันและใช้เวลาค่อนข้างนาน เพื่อให้ที่ประชุมมีจิตใจจดจ่ออยู่กับพระเจ้าอย่างต่อเนื่อง จนไม่คิดถึงสิงอื่นใด และไม่ให้สิ่งใดมาขัดจังหวะ เพื่อให้ที่ประชุมรู้สึกสัมผัสกับพระเจ้า ในระหว่างนี้ก็จะมีการอธิษฐานส่วนตัวเป็นระยะๆ
4. เทศนา
5. อธิษฐานเผื่อการถวายทรัพย์
6. ถวายทรัพย์
7. ประกาศของคริสตจักร
8. ร้องเพลงสรรเสริญและทูลขอพระพรปิดการนมัสการ
ตัวอย่างของรายการนมัสการทั้งสองแบบข้างต้นนี้ล้วนแต่มีองค์ประกอบที่จำเป็นของการนมัสการบรรจุอยู่เช่นเดียวกัน ฉะนั้นจึงเป็นรูปแบบที่ใช้ได้ทั้งคู่ อย่างไรก็ตาม ผู้จัดการนมัสการยังสามารถดัดแปลง ประยุกต์ และเพิ่มเติมรายการเหล่านี้ได้อย่างหลากหลาย เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพของที่ประชุมและวัตถุประสงค์ที่เฉพาะเจาะจงของคริสตจักร นอกจากนี้การปรับเปลี่ยนรูปแบบและ

รายการนมัสการบ้างจะทำให้การนมัสการมีความน่าสนใจ ทำให้ที่ประชุมไม่เกิดความรู้สึกซํ้าซากจำเจ

การใช้เพลงและดนตรีในการนมัสการ

3. การใช้เพลงและดนตรีในการนมัสการ
ความสำคัญของเพลงและดนตรีนมัสการ
เพลงดนตรีนั้นโดยตัวเองแล้วไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับการนมัสการ เราสามารถนมัสการพระเจ้าโดยไม่มีการร้องเพลงและดนตรีเลยก็ได้ อย่างไรก็ตาม เพลงและดนตรีเป็นศิลปะอย่างหนึ่งซึ่งพระเจ้าทรงประทานให้แก่มนุษย์ อันมีประโยชน์หลายอย่าง ได้แก่ (1) เป็นสิ่งที่ช่วยจรรโลงอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ให้มีความสุข (2) เป็นสิ่งที่ช่วยประเทืองสติปัญญา จินตนาการ (3) เป็นสิ่งที่สามารถใช้โน้มนำจิตใจ ความรู้สึกและอารมณ์ได้ เช่น เสียงเพลงเสียงดนตรีสามารถทำให้จิตใจและความรู้สึก ฮึกเหิม เข้มแข็งกล้าหาญ จึงมีการนำเสียงเพลงเสียงดนตรีไปปลุกใจในการสงคราม เชียร์กีฬา การต่อสู้ต่าง ๆ ดนตรีสามารถทำให้เกิดความรู้สึกคึกคัก มีชีวิตชีวา มีสีสัน สนุกสนาน เร้าใจ ดนตรีสามารถทำให้เกิดความรู้สึกสงบ ผ่อนคลาย เยือกเย็น สบาย ดนตรีสามารถทำให้เกิดความรู้สึกมั่นคง สง่างาม อลังการ ยิ่งใหญ่ ดนตรีสามารถทำให้เกิดความรู้สึกเศร้า เหงา วังเวง ฯลฯ
จากประโยชน์ของเพลงและดนตรีที่กล่าวมานี้ จึงทำให้มีการนำเพลงและดนตรีมาใช้ในกิจกรรมต่างๆของมนุษย์แทบทุกกิจกรรม รวมทั้งในการนมัสการพระเจ้า คนของพระเจ้าได้ใช้เพลงและดนตรีในการนมัสการมาตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน ในพระคัมภีร์เราพบว่ามีการใช้บทเพลงและดนตรีในการนมัสการอย่างมากมาย มีบันทึกถึงการร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้าเป็นครั้งแรกตั้งแต่โมเสส (อพย.15:1) ซึ่งก็น่าเชื่อว่าน่าจะมีมาก่อนหน้านี้แล้ว ดังนั้น เราจึงควรมีการศึกษาเรื่องนี้และนำไปใช้ในคริสตจักรอย่างมีประสิทธิภาพ

ประโยชน์ของเพลงและดนตรีในการนมัสการ
ประโยชน์ของเพลงและดนตรีในการนมัสการมีอยู่ 2 ประการ คือ เป็นสื่อในการนมัสการและช่วยเสริมการนมัสการ
การเป็นสื่อในการนมัสการ หมายความว่า คริสเตียนลามารถใช้เพลงและดนตรีเพื่อการนมัสการโดยตรง เช่น ใช้บทเพลงเป็นคำสรรเสริญที่เรามีต่อพระเจ้า ใช้บทเพลงเป็นคำอธิษฐานของเราต่อพระเจ้า อีกทั้งยังใช้บทเพลงย้ำเตือนหรือสอนใจเราเกี่ยวกับเรื่องของพระเจ้า เป็นต้น
ส่วนที่ว่าเพลงและดนตรีช่วยเสริมการนมัสการ หมายความว่า เพลงและดนตรีนมัสการจะช่วยเป็นสะพานเชื่อมระหว่างความคิดกับความรู้สึกที่ถูกต้องในการนมัสการ หรือช่วยโน้มนำอารมณ์ของผู้นมัสการไปสู่การมีท่าทีที่ถูกต้องต่อพระเจ้า เช่น ในขณะที่เรานมัสการพระเจ้า เราทราบอยู่แล้วว่าพระเจ้าทรงยิ่งใหญ่ แต่ท่วงทำนอง จังหวะของบทเพลง รวมทั้งเสียงดนตรีที่หนักแน่นก็จะส่งผลทำให้เรายิ่งรู้สึกมากขึ้นถึงความยิ่งใหญ่ของพระเจ้า และรู้สึกยำเกรงพระองค์มากขึ้นอีก เป็นต้น

การใช้เพลงและดนตรีในการนมัสการ
รูปแบบของเพลงและดนตรีที่สามารถใช้ในการนมัสการ ได้แก่
1. การร้องเพลงของที่ประชุม (Congregational Singing) การนมัสการที่ปรากฏในพระคัมภีร์มีการกล่าวถึงการร้องเพลงสรรเสริญของที่ประชุมอย่างมากมาย (สดด.7:17; 9:2; 47:6; 68:4; 100:2; อฟ.5:19; คส.3:16) การร้องเพลงของที่ประชุมเป็นการทำให้ผู้นมัสการทุกคนได้สรรเสริญพระเจ้าผ่านทางเสียงร้องของตนเอง ถือเป็นหัวใจของการใช้เพลงและดนตรีในการนมัสการ ในการจัดการนมัสการควรเกื้อหนุนให้ที่ประชุมได้มีส่วนร่วมในการร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้า มากกว่าที่จะเน้นให้มาฟังผู้อื่นสรรเสริญพระเจ้า
2. การร้องเพลงพิเศษโดยนักร้อง (Choral and Ensemble Music) กษัตริย์ดาวิดได้ตั้งคณะนักร้องให้ร้องเพลงในการนมัสการเป็นงานพิเศษ (1 พศด.6:33) ในที่นี้หมายถึงนักร้องที่ได้รับการฝึกฝนมาเป็นพิเศษเพื่อร้องเพลงในการนมัสการโดยเฉพาะ เช่น การร้องเพลงเป็นคณะนักร้อง หรือการร้องเพลง
เดี่ยว และคู่ เป็นต้น โดยที่ผู้นมัสการในที่ประชุมจะเป็นผู้รับฟัง
ประโยชน์ของการร้องเพลงพิเศษโดยนักร้องในการนมัสการคือ ช่วยนำใจของที่ประชุมในการนมัสการ เช่น ในช่วงต้นของการนมัสการ เสียงเพลงของคณะนักร้องจะช่วยเตรียมใจที่ประชุมให้พร้อมที่จะเข้าสู่การนมัสการ ช่วงระหว่างการนมัสการ - เสียงเพลงของคณะนักร้องจะช่วยยกชูจิตใจของที่ประชุมให้ชื่นชมยินดีมากขึ้น หรือแม้แต่ให้คณะนักร้องเป็นต้นเสียงในการร้องเพลงให้แก่ที่ประชุม หรือร้องเพลงสลับกับที่ประชุม ช่วงหลังการนมัสการ - เสียงเพลงของคณะนักร้องจะช่วยส่งจิตใจของที่ประชุมให้เดินจากไปโดยเนื้อหาของเพลงติดอยู่ในใจของพวกเขา
การร้องเพลงพิเศษควรมีคุณภาพ หากผู้ร้องมีการฝึกฝนมาอย่างดีก็จะเป็นพระพรต่อผู้นมัสการอย่างมาก หากไม่มีคุณภาพก็กลับจะกลายเป็นสิ่งที่บั่นทอนการนมัสการเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ผู้ร้องเพลงพิเศษต้องตระหนักว่า เพลงพิเศษนั้นมีไว้เพื่อช่วยนำใจของที่ประชุมในการนมัสการ มิใช่เพื่อการแสดงความสามารถ
3. ดนตรีบรรเลง (Instrumental Music) การใช้ดนตรีในการนมัสการมีอยู่ 2 รูปแบบคือ การเล่นดนตรีเพื่อประกอบการร้องเพลงของที่ประชุมและคณะนักร้องกับการบรรเลงดนตรี ในข้อนี้จะเน้นเฉพาะการบรรเลงดนตรี
จุดประสงค์ของการบรรเลงดนตรีในการนมัสการคือ เพื่อช่วยสร้างบรรยากาศให้เหมาะแก่การนมัสการให้มากยิ่งขึ้น เช่น ก่อนเริ่มการนมัสการ ก็จะมีการบรรเลงดนตรีเพื่อเตรียมใจที่ประชุมให้พร้อมสำหรับการนมัสการ ขณะที่อยู่ในบรรยากาศแห่งการอธิษฐาน ดนตรีก็สามารถบรรเลงอย่างแผ่วเบาเพื่อเกื้อหนุนต่อการอธิษฐาน หรือเมื่อจบการนมัสการก็สามารถบรรเลงดนตรีที่เหมาะสมเพื่อช่วยให้ผู้นมัสการเดินออกจากที่ประชุมด้วยความรู้สึกมั่นใจในพระเจ้า เป็นต้น ยิ่งกว่านั้นการบรรเลงเพลงนมัสการยังจะให้ที่ประชุมได้ระลึกถึงเนื้อเพลงนั้นอยู่ในใจ ซึ่งจะทำให้จิตใจได้นมัสการอยู่เงียบๆด้วย

ลักษณะของเพลงที่เหมาะแก่การนมัสการ
แม้ว่าเพลงและดนตรีเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อการนมัสการก็จริง แต่ไม่ใช่เพลงและดนตรีทุกแบบที่เหมาะแก่การนมัสการ หากใช้เพลงที่เหมาะสมก็จะทำให้การนมัสการนั้นเป็นพระพรแก่ผู้นมัสการอย่างมาก แต่ถ้าใช้เพลงที่ไม่เหมาะก็จะไม่เป็นพระพร และยังบั่นทอนการนมัสการอีกด้วย ลักษณะของเพลงที่เหมาะแก่การนมัสการ พิจารณาได้ดังนี้คือ
1. เนื้อเพลงต้องถูกต้องตามหลักพระวจนะ (เคยมีเพลงคริสเตียนบางเพลงที่มีเนื้อความทำนองว่าการตามพระเจ้านั้นไม่มีความทุกข์เลย อย่างนื้ถือว่าไม่ถูกต้องตามระวจนะ น่าจะเปลี่ยนใหม่เป็นแม้มีทุกข์ พระองค์ก็ทรงสถิตอยู่ด้วย ไม่เคยทอดทิ้ง เป็นต้น)
2. เนื้อเพลงมีลักษณะเป็นถ้อยคำที่ผู้ร้องพูดกับพระเจ้าโดยตรง ไม่ใช่พูดเกี่ยวกับพระเจ้า (พูดถึงพระเจ้าในลักษณะบุคคลที่สอง ไม่ใช่บุคคลที่สาม) เป็นเพลงที่พูดระหว่าง “ข้าพระองค์” กับ “พระองค์” หรือ “เรา” กับ “พระองค์”
3. เนื้อเพลงแสดงออกถึงการสรรเสริญ ยกย่องเคารพบูชา และขอบพระคุณพระเจ้าในพระลักษณะและพระราชกิจของพระเจ้าในแง่มุมต่างๆ
4. เนื้อเพลงแสดงออกถึงท่าทีของผู้ร้องต่อพระเจ้าอย่างเหมาะสม คือ แสดงออกถึงการเคารพบูชาให้เกียรติพระเจ้า ถ่อมตัวเองลง เป็นต้น
5. จังหวะและทำนองไม่ยาก เหมาะสมที่คนทั้งที่ประชุมจะสามารถร้องได้ เนื่องจากในการนมัสการนั้นเราต้องการให้ทุกคนในที่ประชุมได้สรรเสริญพระเจ้า ส่วนเพลงที่ยากและซับซ้อนนั้นเหมาะสำหรับการร้องเป็นเพลงพิเศษโดยคณะนักร้องที่ได้รับการฝึกฝนมาโดยเฉพาะ
6. คำร้อง ทำนอง จังหวะ และลีลาของเพลงควรถูกกับรสนิยมของที่ประชุม เพื่อที่ผู้นมัสการจะได้ร้องนมัสการด้วยความรู้สึกประทับใจ การร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้าโดยที่ไม่ชอบคำร้อง ทำนอง จังหวะ และลีลาของบทเพลงนั้นๆส่งผลทำให้ไม่สามารถร้องด้วยความชื่นชมยินดีได้
7. ภาษาของเพลงควรเป็นภาษาสุภาพและสามารถถ่ายทอดความคิด ความรู้สึกในจิตใจในการนมัสการได้อย่างชัดเจน และจะยิ่งเยี่ยมยอดหากภาษาของเพลงมีความงดงามในทางวรรณศิลป์ มีสัมผัสอย่างบทกวี

ประเภทของเพลงนมัสการ
ตามที่เราได้เรียนรู้มาแล้วว่า ในการนมัสการนั้นมีขั้นตอนหลายอย่าง และผู้นมัสการก็ต้องมีท่าทีต่อพระเจ้าหลายอย่างเช่นกัน ฉะนั้น เพลงนมัสการจะต้องมีหลายประเภทเพื่อจะสามารถช่วยผู้นมัสการให้สามารถสำแดงท่าทีในจิตใจต่อพระเจ้าได้อย่างครบถ้วน เพลงนมัสการสามารถแบ่งได้เป็น 4 ประเภทดังนี้
1. เพลงนมัสการแห่งการสรรเสริญยกย่องและขอบพระคุณพระเจ้า
เป็นเพลงที่มีเนื้อหาว่า เราสรรเสริญพระเจ้า เรายกย่องบูชาพระเจ้าในพระลักษณะและพระราชกิจด้านต่างๆของพระองค์ เช่น พระเจ้ายิ่งใหญ่ ข้าขอถวายเกียรติแด่พระเจ้า พระองค์ทรงบริสุทธิ์ ฯลฯ
2. เพลงนมัสการแห่งการอธิษฐานทูลขอ 
เป็นเพลงที่มีเนื้อหาว่า เราขอเข้าใกล้พระเจ้า เข้าสนิทกับพระองค์ ขอสารภาพบาป ขอทรงยกโทษบาป ขอไว้วางใจพระองค์ ขอพึ่งพาพระองค์ ขอพระกำลังและการเล้าโลมจากพระองค์ ขออธิษฐานต่อพระองค์ ขอฟังเสียงพระองค์ ขอการช่วยเหลือจากพระองค์ ขอการทรงนำ ฯลฯ เช่น ขอพระเยซูโปรดนำหน้า ได้ยินเสียงของพระเจ้า เป็นต้น
3. เพลงนมัสการแห่งหลักความเชื่อและคำสอน 
เป็นเพลงที่มีเนื้อหากล่าวถึงหลักความเชื่อต่างๆที่เราเชื่อถืออยู่ตามหลักแห่งพระวจนะ หรือ
เป็นเพลงที่บอกถึงคำสั่งที่สอนพระเจ้าให้เราปฏิบัติ เช่น ผู้เป็นพระเยซูทรงเป็นขึ้นแล้ว จงออกไปประกาศ จงบริสุทธิ์ จงมีความเชื่อ จงอธิษฐาน ฯลฯ
4. เพลงนมัสการแห่งการถวายตัวแด่พระเจ้า และการตอบสนองต่อคำสั่งของพระเจ้า เป็นเพลงที่มีเนื้อหาว่าเราขอตอบสนองต่อพระเจ้า ขอเชื่อฟังพระเจ้าในสิ่งต่างๆ ที่พระองค์สั่ง 
ขอถวายแด่พระเจ้า ขอรับใช้พระเจ้า เช่น ข้าขอติดตามพระเยซูดีกว่า ขอถวายแด่องค์พระเยซู เชื่อและฟังคำ ข้ายอมทุกสิ่ง ฯลฯ
นอกจากนี้ ยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเพลงนมัสการอยู่บางประการ มีบางคนเข้าใจผิดว่า เพลงชีวิตคริสเตียนเท่านั้นที่ถือว่าเป็นเพลงนมัสการที่แท้จริง เพลงสั้นที่นิยมร้องนมัสการกันในปัจจุบันเหมาะลำหรับร้องเล่นก่อนการนมัสการเท่านั้น ยังไม่ใช่เพลงนมัสการที่แท้จริง แต่ในทางกลับกัน ก็มีความเข้าใจผิดอีกว่า การนมัสการในปัจจุบันที่นิยมใช้เพลงสั้นร้องต่อกันเป็นชุด ที่เรียกว่าเมดเล่ย์ (Medley) เท่านั้นจึงจะถือเป็นการนมัสการพระเจ้าด้วยจิตวิญญาณและความจริง ถ้าร้องเพลงทีละเพลงหรือร้องเพลงยาวจะไม่เป็นการนมัสการที่แท้จริง
ยิ่งกว่านั้น ยังมีความเข้าใจไปอีกว่า ต้องเป็นเพลงแนวสากลเท่านั้น ถ้าร้องเพลงแนวลูกทุ่งแล้วจะไม่เป็นการนมัสการที่แท้จริง ความเข้าใจดังกล่าวนี้ไม่ถูกต้องตามหลักแห่งพระวจนะ

การนมัสการด้วยศิลปะอื่น ๆ
พระเจ้าทรงสร้างศิลปะหลายแขนง ฉะนั้น การนมัสการจึงไม่จำเป็นต้องใช้ศิลปะในด้านเพลงและดนตรีเท่านั้น แต่ยังใช้ศิลปะอื่นๆ ประกอบได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นศิลปะสาขาการแสดง การเต้นรำ การใช้ท่าทางประกอบ ศิลปะด้านวรรณกรรม บทกวี ศิลปะด้านจิตรกรรมและปฏิมากรรม การสร้างสัญลักษณ์

ศิลปะด้านภาพยนตร์ ศิลปะด้านการแต่งกาย ฯลฯ

การนำนมัสการ

4. การนำนมัสการ
การนำนมัสการเป็นงานพิเศษที่พระเจ้าทรงแต่งตั้งขึ้น เช่นเดียวกับหน้าที่ของเลวีที่นำนมัสการในพระวิหาร ผู้นำนมัสการจึงมีบทบาทที่เต็มไปด้วยสิทธิพิเศษอย่างมาก เพราะพระเจ้าแสวงหาผู้นมัสการพระองค์ด้วยจิตวิญญาณและความจริง ดังนั้นผู้นำนมัสการที่พาคนไปสู่สิ่งนี้จึงเป็นคนสำคัญมากที่จะพาใจของคนของพระเจ้าไปอยู่ต่อพระพักตร์ของพระองค์ และเผชิญหน้ากับพระองค์

หน้าที่ของผู้นำนมัสการ
ผู้นำนมัสการมีหน้าที่เป็นผู้นำผู้ที่อยู่ในที่ประชุมให้เข้าเฝ้าพระเจ้า โดยเข้าสู่การทรงสถิตอยู่ของพระองค์ และเป็นผู้เตรียมใจของผู้ที่อยู่ในที่ประชุมที่จะรับฟังคำสอนจากพระวจนะ
คุณสมบัติของผู้นำนมัสการ
ก. คุณสมบ้ติทางชีวิต
1) ผู้นำนมัสการควรมีชีวิตที่เป็นแบบอย่างแก่ผู้นมัสการอื่น ๆ ในที่ประชุมได้
2) ผู้นำนมัสการต้องเป็นผู้ที่นมัสการพระเจ้าเป็นการส่วนตัวอยู่เสมอในชีวิต
3) ผู้นำนมัสการต้องมีลัมพันธภาพส่วนบุคคลที่ลึกซึ้งกับพระเจ้า และต้องมีจิต
วิญญาณที่เติบโต เข้มแข็ง
4) ผู้นำนมัสการต้องรู้จักพระเจ้าและพระวจนะของพระองค์อย่างดีพอ
5) ผู้นำนมัสการต้องมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ มีท่าทีเป็นผู้รับใช้ มีระเบียบวินัย ในชีวิตตรงต่อเวลา
6) เป็นผู้มีความเข้าใจหลักเรื่องการนมัสการในพระคัมภีร์อย่างดี
7) ให้เกียรติและเชื่อฟังผู้นำคริสตจักร
8) ไมใช่คนที่รู้สึกท้อใจง่ายเมื่อถูกติ ถูกปรับปรุงแกไขการนำนมัสการ เป็นคนยอมรับการสอนได้
9) เป็นผู้ปรารถนาจะให้เกิดผลดีเลิศในการนมัสการ

ข. คุณสมบํติทางด้านเพลงและดนตรี
1) ผู้นำนมัสการไม่จำเป็นต้องรู้จักการเล่นดนตรีเสมอไป แต่ถ้ารู้ก็คงเป็นประโยชน์มาก
2) ผู้นำนมัสการต้องมีความสามารถร้องเพลงได้ รักษาทำนองได้โดยไม่ตกคีย์ และหากรู้ทฤษฎีดนตรีบ้างก็จะเป็นประโยชน์
3) ผู้นำนมัสการควรรู้จักเพลงทุกเพลงที่มีอยู่อย่างดี
4) ผู้นำนมัสการควรเป็นผู้มีใจขวนขวายหาเพลงใหม่ๆ (หรือแต่งเพลงใหม่) เพื่อนำมาใช้ในการนมัสการได้อย่างเพียงพอในทุกโอกาส ทั้งเพลงใหม่ยังจะช่วยให้ที่ประชุมได้นมัสการพระเจ้าโดยมีความรู้สึกใหม่สดเสมอ ไม่จำเจ

ค. คุณสมบัติอื่นๆ
1) ควรมีบุคลิกภาพเรียบร้อยและละอาด ทั้งด้านการแต่งกาย ทรงผม ฯลฯ
2) มีบุคลิกท่าทางในการยืน การเดิน ที่สง่างาม
3) มีทักษะในการพูดที่ชัดเจน เข้าใจง่าย น้ำเสียงชัดเจน
4) มีบุคลิกภาพที่เข้มแข็งมั่นคง น่าเชื่อถือ จริงจัง แต่ขณะเดียวกันก็มีสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส
5) ควรเป็นผู้ที่มนุษยสัมพันธ์ดี เนื่องจากผู้นำนมัสการต้องทำงานร่วมกับบุคคลหลายฝ่าย เช่น ต้องประสานกับผู้เทศนา ต้องฝึกซ้อมกับคณะนักดนตรี และที่สำคัญคือ ต้องมีศิลปะในการนำมวลชนพอสมควร

การเตรียมรายการนมัสการ
1. ผู้นำนมัสการควรจะอธิษฐานในการเตรียมรายการที่จะนำนมัสการ เพื่อให้พระเจ้าทรงช่วยให้เราทราบว่าเราควรนำนมัสการไปในทิศทางใด
2. หากเป็นได้ผู้นำนมัสการควรจะประสานกับผู้เทศนา ว่าจะเทศนาเกี่ยวกับเรื่องอะไร เพื่อจะได้เลือกเพลงและข้อพระคัมภีร์ที่สอดคล้องกับคำเทศนา ซึ่งจะทำให้เนื้อหาของการนมัสการสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน อย่างไรก็ตาม หากไม่สามารถทำได้ ก็ให้ผู้นำนมัสการกำหนดแนวทางด้วยตนเอง
3. ควรเริ่มช่วงแรกด้วยเพลงที่มีจังหวะค่อนข้างเร็วหรือกระชับ และดังพอประมาณ (ไมใช่ดังเกินไป) เพื่อปลุกที่ประชุมให้มีความกระตือรือร้นและชื่นชมยินดี แล้วต่อมาในบรรยากาศเพลงช้าลงและเบาลงเพื่อการสงบใจเตรียมรับพระวจนะ
4. เพลงช่วงแรกควรเป็นเพลงที่มีเนื้อหาเน้นถึงการสรรเสริญพระเจ้า ในพระลักษณะและพระราชกิจต่างๆ ของพระองค์ เช่น สรรเสริญที่พระเจ้าทรงยิ่งใหญ่ สรรเสริญที่พระองค์ทรงเลี้ยงดู สรรเสริญที่พระองค์ทรงไถ่เรา สรรเสริญที่พระองค์ทรงบริสุทธิ์ ฯลฯ ต่อจากนั้นก็สามารถเป็นเพลงที่นำใจผู้
นมัสการให้ตอบสนองพระเจ้าในเรื่องต่างๆ เช่น เราขอขอบพระคุณพระองค์ เราขอสารภาพบาป เราจะเชื่อฟังพระองค์ เราขอถวายตัวแด่พระองค์ เราขอรับใช้พระองค์ ฯลฯ
5. อย่าให้เนื้อเพลงไม่สอดคล้องต่อเนื่องกัน หรือเนื้อเพลงกลับไปกลับมา เช่น เพลงสรรเสริญพระเจ้า ต่อด้วยเพลงสารภาพบาป แล้วกลับมาร้องเพลงสรรเสริญอีก
6. ควรเตรียมเพลงไว้เกินกว่าความจำเป็น เพื่อว่าหากเพลงใดรู้สึกว่าไม่เหมาะสมในวันนั้น เราจะได้เปลี่ยนไปสู่เพลงอื่นได้ทันที
7. ช่วงที่ต้องมีการพูด เช่น การกล่าวคำนำ การกล่าวต้อนรับ หรือ การกล่าวช่วงระหว่างเพลง ฯลฯ หากเป็นได้ควรเขียนเป็นบทพูดอย่างละเอียดว่าจะพูดอะไรบ้าง เพื่อป้องกันการลืมหรือหลงประเด็น หรือแม้แต่การนำอธิษฐาน ก็ควรเขียนไว้ด้วยว่าจะอธิษฐานไปในทิศทางใดนมัสการ
8. ข้อพระคัมภีร์ที่อ่านประกอบการนมัสการควรเป็นตอนที่มีลักษณะหนุนการนมัสการ หากเลือกตอนที่ไม่ได้หนุนการนมัสการก็จะไม่ได้ประโยชน์ อีกทั้งยังจะทำให้ทิศทางการนมัสการเสียไปด้วย
9. ควรกำหนดเวลาว่ารายการแต่ละขั้นตอนนั้นใช้เวลาประมาณเท่าไร เพื่อจะสามารถใช้เวลาได้อย่างเหมาะสม ไม่มากไปไม่น้อยเกินไป
10. ต้องมีการติดต่อประสานงานกับผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบรายการนมัสการในวันนั้นอย่างชัดเจนล่วงหน้า เซ่น ผู้อธิษฐาน ผู้กล่าวต้อนรับ ผู้เดินถุงถวาย ฯลฯ เพื่อมิให้เกิดความขลุกขลัก
11.สำหรับการเป็นพยาน ผู้นำนมัสการไม่ควรเปิดโอกาสให้คนขึ้นมาเป็นพยานอย่างเสรี (นอกเสียจากว่าเป็นการนมัสการในกลุ่มย่อยเท่านั้น) เนื่องจากผู้กล่าวคำพยานอาจแบ่งปันอย่างไม่เหมาะสม อันจะทำให้บรรยากาศการนมัสการเสียไป ขอเสนอให้มีการสอบถามผู้ที่ประสงค์จะเป็นพยานก่อนเพื่อพิจารณาดูว่า เนื้อหาเหมาะสมหรือไม่ และเพื่อให้คำแนะนำเพิ่มเติมแก่ผู้เป็นพยานด้วย

ข้อพึงปฏิบัติก่อนการนมัสการ
1. ผู้นำนมัสการควรแต่งกายสุภาพเรียบร้อยและสะอาด เพื่อที่ตนเองจะสามารถเป็นแบบอย่างแก่ผู้นมัสการอื่นๆ และแสดงถึงการให้เกียรติพระเจ้า
2. ควรจะอธิษฐานอย่างเต็มที่ก่อนมาคริสตจักร และก่อนที่จะเริ่มประชุมสัก 30 นาที เพื่อจิตใจของผู้นำนมัสการจะได้เต็มด้วยความยินดี และใกล้ชิดกับพระเจ้า พาใจของผู้ที่อยู่ในที่ประชุมไปสัมผัสพระเจ้าได้
3. เตรียมอุปกรณ์ในการนำนมัสการให้พร้อม ทั้งของตนเอง และผู้ที่มีส่วนช่วยในการนำ เช่น เขียนชื่อเพลงให้พร้อมสำหรับนักดนตรี เตรียมหนังสือเพลงสำหรับตนเองและที่ประชุมให้พร้อม และหากมีการใช้เครื่องฉายเนื้อเพลงก็ต้องเตรียมข้อมูลให้แก่ผู้ฉายด้วย
4. อย่าเข้าสู่การนมัสการขณะที่ยังไม่ได้รับการยกโทษบาป จงมีใจละอาดต่อพระเจ้า และเป็นคนที่บริสุทธิ์ (1 พศด.15:14; 2พศด. 29:14-15) หากมีบาปต้องสารภาพ

ข้อพึงปฏิบัติระหว่างการนมัสการ
1. ผู้นำนมัสการควรร้องเพลงนมัสการอย่างสุดจิตสุดใจขณะนำนมัสการ การบอกให้ที่ประชุมร้องเพลงแต่หน้าตา แววตา สีหน้าของตนไม่แสดงเช่นนั้น จะมีผลต่อที่ประชุมอย่างมาก
2. ผู้นำนมัสการอย่าใช้คำหยาบ คำไม่สุภาพในการกล่าวสิ่งใดเมื่อนำนมัสการ และควรใช้คำพูดในรสนิยมที่ดี
3. ผู้นำนมัสการต้องมีท่าทีที่แสดงถึงความยำเกรงพระเจ้า ท่าทีของผู้นำจะส่งผลให้ที่ประชุมรู้สึกยำเกรงพระเจ้าไปด้วย ท่าทีของผู้นำนมัสการจะกำหนดท่าทีของผู้นมัสการอื่นๆ
4. เมื่อกล่าวคำนำก่อนเริ่มการนมัสการ ควรสั้นกระชับและมีความหมายที่ดี
5. ผู้นำนมัสการควรร้องเพลงได้อย่างถูกต้องเพื่อจะสามารถเป็นต้นเสียงให้แก่ที่ประชุมได้ และหากจะร้องเพลงที่ต้องมีการเชื่อมต่อกันหลายเพลง ก็ควรรักษาการเชื่อมต่อของเพลงต่อเพลงโดยไม่ติดขัด
6. อย่านำเพลงใหม่ๆ มาร้องในช่วงต้นของการนมัสการ เพราะจะทำให้บรรยากาศการนมัสการเริ่มต้นโดยยากลำบาก เพลงใหม่ๆ ควรฝึกให้กลุ่มนักดนตรีและคณะนักร้องรู้จักเพลงเหล่านั้นอย่างดีเสียก่อน เมื่อนำมาใช้ในการนมัสการจะทำให้ผู้อื่นร้องตามได้ดีขึ้น หรืออาจฝึกให้ที่ประชุมหัดร้องก่อนเริ่ม
การนมัสการ ข้อพึงปฏิบัติในการฝึกเพลงใหม่คือ อย่างน้อยต้องมีคนราว 20 เปอร์เซ็นต์ของที่ประชุมร้องเพลงนั้นได้ และรับการฝึกมาก่อนแล้วจึงจะนำเพลงนั้นมาใช้ได้
7. ผู้นำนมัสการควรใช้มือในการให้จังหวะกับผู้ร้อง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งแก่นักดนตรี เพื่อเสียงร้องกับเสียงดนตรีจะไม่ขัดจังหวะกัน
8. ผู้นำนมัสการควรพูดให้เข้าในไมโครโฟนให้เสียงดัง ฟังชัดเจนแก่ผู้ที่อยู่ในที่ประชุม
9. ผู้นำนมัสการควรร้องเพลงด้วยจังหวะแม่นยำ เพื่อเป็นเสียงนำที่ประชุม
10. หากจะร้องเพลงซํ้าอีกรอบหรือซ้ำท่อนใดท่อนหนึ่ง ผู้นำต้องกล่าวประโยคแรกของท่อนนั้นๆ ก่อนที่จะร้องจบประโยคสุดท้าย มิฉะนั้นจะทำให้ตะกุกตะกักและเสียบรรยากาศ
11. อย่าร้องเพลงเดียวนานและมากจนเกิดความเบื่อหน่ายต่อผู้ร้อง ผู้นำควรไวต่อความรู้สึก ใช้หลายๆ เพลงจะเหมาะสมกว่าใช้เพลงเดียวหลายเที่ยวเกินไป ในทางตรงข้าม หลายครั้งเรายังไม่ควรเปลี่ยนเพลงหากสัมผัสว่าพระวิญญาณยังนำและใช้เพลงนั้นแตะต้องใจของที่ประชุมอยู่
12. อย่าตะโกนเสียงแข็งแบบออกคำสั่งต่อที่ประชุม ควรใช้เลียงสุภาพ หรือจะใช้เสียงดังหรือเบาเพียงใดก็ให้เหมาะสมกับบรรยากาศนมัสการเวลานั้น
13. อย่าวางตัวเหนือที่ประชุม หรือแสดงอาการว่าตนเองมีจิตวิญญาณเหนือกว่าที่ประชุม ต้องมีท่าทีถ่อมตัวและให้เกียรติที่ประชุม
14. พยายามพูดแง่บวก อย่าพูดติที่ประชุมหรือกล่าวว่าที่ประชุมร้องไม่ได้เรื่อง หรือหน้าตาบูดบึ้ง เพราะจะทำให้ที่ประชุมซบเซาและไม่ค่อยตอบสนอง แต่ให้พูดหนุนใจในทางบวก เช่น แทนที่จะกล่าวว่า “ผมยังเห็นหน้าทุกคนเหมือนแบกปัญหาไว้ทั้งโลก” แต่ควรกล่าวว่า ผมเชื่อว่าทุกคนเตรียมใจมานมัสการ
ใช่ไหม ให้เรายิ้มแย้มแจ่มใส แสดงความยินดีในพระเจ้าของเราด้วยกัน” ฯลฯ
15. อย่าพูดมากเกินไปในลักษณะออกเทศนาเมื่อแนะนำเพลง
16. อย่าให้ที่ประชุมยืนนานเกินไป เพราะอาจมีผลทำให้ไม่ค่อยนมัสการในตอนท้ายๆ เพราะร่างกายเริ่มเมื่อยล้า
17. ต้องประสานกับศิษยาภิบาลและผู้เทศนาในวันนั้น ผู้นำควรตระหนักว่า ผู้ที่ควบคุมการประชุมคือผู้นำฝ่ายวิญญาณของคริสตจักรนั่นคือศิษยาภิบาลหรือผู้ปกครองฝ่ายนมัสการที่ได้รับการแต่งตั้ง ผู้นำนมัสการไม่ควรนำตามใจตัวเอง ในขณะที่ผู้นำคริสตจักรเริ่มเห็นว่าผิดแนวพระวิญญาณแล้ว การนมัสการไม่ใช่เพียงแต่การแสดงแต่เป็นประสบการณ์ฝ่ายวิญญาณจิต สิทธิสุดท้ายอยู่ที่ผู้นำคริสตจักร อย่างไรก็ดี ผู้นำนมัสการควรมีอิสรภาพในการนำโดยไม่ต้องพะวงต่อศิษยาภิบาลมากเกินไป ขอให้มีใจกล้าและมั่นใจที่จะนำไป หากผิดพลาด ผู้นำคริสตจักรก็จะคอยแก้ไขให้เอง ฉะนั้นไม่จำเป็นต้องพะวงว่า
ตนเองจะนำถูกหรือไม่
18. ในบางโอกาส ผู้นำคริสตจักรจะแจ้งให้ทราบว่าควรนำยาวหรือสั้นเพียงใดในการนมัสการวันนั้น
19. ควรหนุนใจที่ประชุมเป็นครั้งคราว โดยใช้สติปัญญาและวิจารณญาณ พยายามให้ทุกคนนมัสการ
20. อย่ากลัวความเงียบสงบ เพราะในบางขณะโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อนมัสการพร้อมกันเสร็จแล้ว ความสงบเงียบอาจเป็นเวลาที่พระเจ้าใช้พูดกับที่ประชุม
21. หากมีการเผยพระวจนะ จงตรวจสอบคำเผยพระวจนะกับผู้นำว่าควรมีการเชื่อฟังหรือไม่ เช่น คำเผยพระวจนะบอกให้ถวายตัว รักษาโรค อธิษฐาน เป็นต้น อย่าละเลยคำเผยพระวจนะ
22. หากไม่แน่ใจว่าควรจะทำอะไรดี หรือควรจะไปในทิศทางไหนดี ให้มองดูศิษยาภิบาล
23. ระวังความเหมาะสมและความเป็นระเบียบ (1 คร.14:40) อย่าให้มีความสับสนหรือมีท่าทีทางเนื้อหนัง ความมีระเบียบไม่ได้หมายความว่าไม่ต้องทำอะไรเลยที่แตกต่างจากระบบที่วางไว้ แต่ต้องมีจุดมุ่งหมายให้เป็นที่เสริมสร้าง ไม่ใช่วุ่นวายโดยใช่เหตุ การชื่นชมในพระเจ้าทำให้เรานมัสการ
อย่างอิสระได้ แต่ต้องไม่แสดงออกแบบเนื้อหนังโดยไม่ใช่การถวายเกียรติแด่พระเจ้า
24. ผู้นำต้องมีท่าทีกระตือรือร้น หากเฉื่อยเนือย ที่ประชุมก็จะเฉื่อยเนือยตามไปด้วย นอกจากนี้ คริสตจักรสมัยใหม่ยังนิยมให้ผู้นำนมัสการเคลื่อนตัวไปยังจุดต่างๆ ของเวทีเพื่อให้รู้สึกมีชีวิตชีวามากขึ้น
25. หากมีการเป็นพยาน เมื่อผู้เป็นพยานกล่าวจบ ก็ให้ยํ้าจุดที่ดีออกมาจากคำพยาน เพื่อหนุนเนื่องต่อไปในการนำเพลงหลังการให้คำพยาน
26. เมื่อผู้เทศนาเทศจบ อย่าไปสรุปคำเทศนาของผู้เทศอีกรอบ อย่าไปเพิ่มเติมคำเทศนาอีก อย่างมากให้เพียงแต่กล่าวขอบคุณพระเจ้าเพียงสั้นๆ สำหรับพระวจนะที่เป็นพระพร แล้วก็ดำเนินรายการต่อไป
อนึ่ง แม้ว่าเราจะคาดหวังว่าผู้นำนมัสการควรจะมีระดับความเติบโตทางจิตวิญญาณและความสามารถที่สูง แต่ในการตั้งคริสตจักรใหม่ๆ ก็อาจยังหาบุคคลเช่นนั้นได้ยาก จึงเป็นเรื่องปกติที่คริสตจักรจะเริ่มจากใช้บุคคลากรเท่าที่มีอยู่ไปก่อน แล้วค่อยๆพัฒนาให้มีคุณภาพสูงขึ้นไปเรื่อยๆ รวมทั้งพัฒนาสมาชิกให้

สามารถทำหน้าที่ผู้นำนมัสการและนักดนตรีนมัสการได้หลายคน